เดนมาร์กเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อว่ามีความเป็นประชาธิปไตยมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ประชาชนตื่นตัวต่อการเมืองและใช้สิทธิ์เลือกตั้งในระดับสูงมาก มี "รัฐสวัสดิการ" ที่ประสบความสำเร็จและกลายเป็นต้นแบบของหลายประเทศ ทั้งยังเป็นรัฐราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับประเทศไทย แต่ในขณะเดียวกัน เดนมาร์กเป็นประเทศแรกที่พรรคชาตินิยมได้รับความนิยมสูงมาก มีนโยบายผู้อพยพที่เข้มงวดที่สุดในยุโรป เป็นจุดเริ่มต้นกระแสพรรคชาตินิยมที่แพร่กระจายไปทั่วยุโรปในปัจจุบัน จนทำให้เกิดความกังวลว่ายุโรปจะทำลายคุณค่าประชาธิปไตยที่สะสมมานาน การเลือกตั้งเดนมาร์กซึ่งเกิดขึ้นในวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมาจึงน่าสนใจศึกษาอย่างยิ่ง
ระบบการเมืองเดนมาร์ก
เดนมาร์กปกครองด้วยระบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ มีประมุขของประเทศคือราชินี Margrethe II โดยใช้ระบบสภาเดียว มีชื่อว่า Folketinget และมีพรรคการเมืองหลายพรรคเป็นรัฐบาลผสม มีน้อยครั้งมากที่พรรคการเมืองพรรคเดียวมีเสียงส่วนใหญ่ในสภา การผ่านกฎหมายในสภาจึงต้องเกิดจากการเจรจาต่อรองระหว่างพรรคการเมืองทั้งพรรคร่วมรัฐบาล พรรคสนับสนุนรัฐบาลและฝ่ายค้าน ก่อนการเลือกตั้งครั้งนี้ เดนมาร์กมีนายกรัฐมนตรีชื่อ Lars Løkke Rasmussen จากพรรคเสรีนิยม (Venstre)

ราชินี Margrethe II ของเดนมาร์ก (ที่มาhttp://en.wikipedia.org/wiki/File:Queen_Magrethe_sep_7_2005.png)
สภา Folketinget นี้มีวาระสี่ปี มีผู้แทนจำนวน 179 คน โดย 175 คนมาจากเดนมาร์ก โดยอีก 4 คนนั้นมาจากหมู่เกาะแฟโรและกรีนแลนด์แห่งละ 2 คน โดยพรรครัฐบาลจะต้องรวบรวมเสียงสนับสนุนให้ได้มากกว่า 90 เสียง จึงถือว่ามีเสียงข้างมาก (หรือหากไม่สามารถรวบรวมเสียงสนับสนุนได้ถึง 90 เสียง ดังเช่นในการเลือกตั้งครั้งนี้ ก็ต้องมั่นใจว่าจะไม่มีเสียงข้างมากคัดค้าน) ส่วนมากรัฐบาลผสมของเดนมาร์กจะเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย กล่าวคือมีจำนวนผู้แทนไม่ถึง 90 คน และต้องพึ่งพาเสียงของพรรคสนับสนุนรัฐบาลในการผ่านกฎหมายต่างๆ ดังนั้นการเจรจาและการประนีประนอมเพื่อหาข้อยุติร่วมกัน (Consensus) จึงเป็นประเพณีทางการเมืองของเดนมาร์ก

(Pic 2) พระราชวัง Christiansborg ที่ตั้งของสภา Folketinget
นายกรัฐมนตรีของเดนมาร์กมาจากการแต่งตั้งโดยราชินีโดยธรรมเนียม เมื่อการเลือกตั้งเสร็จสิ้นและรัฐบาลเดิมไม่มีเสียงข้างมาก การจัดตั้งรัฐบาลใหม่จะเริ่มขึ้นโดยขั้นตอนที่เรียกว่า dronningerunde (Queen's round) ซึ่งราชินีจะทำการเลือกผู้เจรจาหนึ่งคน เรียกว่า kongelig undersøger (Royal negotiator) โดยบุคคลนี้คือบุคคลที่ราชินีคาดว่าสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ผู้เจรจาคนนี้จะเสนอรายชื่อคณะรัฐมนตรี หากเสียงส่วนมากในสภาไม่คัดค้าน รัฐบาลใหม่ก็จะถูกจัดตั้งขึ้นโดยตัวผู้เจรจามักจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนถัดไป แต่หากเสียงส่วนมากคัดค้าน กระบวนการ dronningerunde จะเริ่มขึ้นอีกครั้ง โดยในปี 2531 กระบวนการนี้ต้องดำเนินไปถึง 4 รอบ จึงสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ พรรคการเมืองที่มีรัฐมนตรีถือเป็นพรรครัฐบาล (Government party) พรรคการเมืองที่สนับสนุนรัฐบาลแต่ไม่มีรัฐมนตรีถือเป็นพรรคสนับสนุนรัฐบาล (Supporting party) ส่วนพรรคที่เหลือคือพรรคฝ่ายค้าน (Opponent party)
การเลือกตั้งเดนมาร์ก
ตามรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งจะต้องเกิดขึ้นภายใน 4 ปี นับจากการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้จะต้องเกิดขึ้นภายในวันที่ 12 พฤศจิกายน โดยนายกรัฐมนตรีสามารถประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่เมื่อไหร่ก็ได้ และการเลือกตั้งจะต้องเกิดขึ้นภายใน 21 วันหลังจากการประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งก็เป็นไปตามกำหนดพอดี เนื่องจากนายกรัฐมนตรีได้ประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่เมื่อวันที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมา
เดนมาร์กมีพรรคการเมืองหลายพรรค โดยพรรคการเมืองจะสัญญากับผู้เลือกตั้งไว้ว่าจะจัดตั้งหรือสนับสนุนกลุ่มพันธมิตรทางการเมือง (Coalition) ใดเป็นรัฐบาล แต่พรรคการเมืองนั้นอาจเป็นพรรครัฐบาล หรือเป็นพรรคสนับสนุนรัฐบาลก็ได้ โดยพันธมิตรทางการเมืองในการเลือกตั้งครั้งนี้มีสองกลุ่ม เรียกกันว่าพันธมิตรสีแดง (Red Coalition) และพันธมิตรสีน้ำเงิน (Blue Coalition) ซึ่งจะกล่าวในภายหลัง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งก็สามารถตัดสินใจสนับสนุนพรรคใดก็ได้ในพันธมิตรที่ตนสนับสนุน เพราะสุดท้ายก็จะได้นายกรัฐมนตรีคนเดียวกัน แต่ความแตกต่างคือรายละเอียดในแต่ละนโยบาย
การจัดตั้งรัฐบาลจำเป็นต้องมีเสียงข้างมากของสภาสนับสนุน (หรือไม่มีเสียงข้างมากคัดค้าน เช่นในการเลือกตั้งครั้งนี้) โดยพรรครัฐบาลหลักซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีสังกัดอาจมีเสียงไม่เป็นอันดับหนึ่งของสภาก็ได้ ขอเพียงมีพรรคการเมืองมาสนับสนุนจนเป็นเสียงข้างมากก็พอ นอกจากนี้ รัฐบาลส่วนใหญ่จะเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย (Minority government) คือผู้แทนจากพรรครัฐบาลรวมกันมีจำนวนไม่ถึงครึ่ง แต่อยู่ได้เพราะเสียงจากพรรคสนับสนุนรัฐบาล ซึ่งอาจไม่สนับสนุนกฎหมายหากมีความขัดแย้งกับพรรครัฐบาล
ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรในเดนมาร์ก ต้องเป็นพลเมืองเดนมาร์ก มีอายุ 18 ปีขึ้นไป โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งใช้สิทธิโดยการนำจดหมายแจ้งการใช้สิทธิที่ส่งมาที่บ้าน ไปใช้สิทธิที่หน่วยเลือกตั้งซึ่งมักเป็นโรงเรียน (เพราะมีห้องขนาดใหญ่) โดยควรเตรียมบัตรประจำตัวที่มีรูปภาพไปด้วย เช่น ใบขับขี่ หรือหนังสือเดินทาง (ประชาชนเดนมาร์กไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน แต่มีบัตรประกันสุขภาพเป็นเสมือนบัตรประชาชน โดยบัตรนี้ไม่มีรูปภาพ) เพราะเจ้าหน้าที่อาจขอตรวจหากสงสัย เมื่อมาถึงแล้ว เจ้าหน้าที่จะขีดฆ่าชื่อของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในบัญชีรายชื่อที่หน่วยเลือกตั้ง แล้วให้บัตรเลือกตั้งผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปใช้สิทธิในคูหา โดยหน่วยเลือกตั้งจะเปิดให้ใช้สิทธิตั้งแต่เวลา 9.00-20.00 น. เป็นเวลารวม 11 ชั่วโมง ด้วยเหตุผลว่าประชาชนทั่วไปจะทำงานวันละ 8 ชั่วโมง การมีเวลาเลือกตั้ง 11 ชั่วโมง ทำให้ประชาชนมีเวลาอย่างน้อย 3 ชั่วโมงในการใช้สิทธิ
ในบัตรเลือกตั้งจะมีสองส่วน คือเลือกตั้งพรรค และเลือกตั้งผู้สมัคร โดยสามารถเลือกลงคะแนนให้พรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว หรือผู้สมัครเพียงคนเดียวเท่านั้น โดยทำเครื่องหมายกากบาทด้วยดินสอ ในบัตรเลือกตั้งจะมีสัญลักษณ์พรรคซึ่งมีการตกลงไว้ล่วงหน้า หากพรรคการเมืองไม่ขอเปลี่ยนสัญลักษณ์ ก็จะใช้สัญลักษณ์เดิมไปตลอด (เช่น A สำหรับพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย หรือ V สำหรับพรรคเสรีนิยม) และชื่อพรรคการเมืองอยู่ หากผู้มีสิทธิเลือกตั้งเลือกพรรค คะแนนจะถูกนำไปคัดเลือกผู้สมัครตามลำดับบัญชีรายชื่อ หรือจัดสรรตามจำนวนคะแนนเลือกตั้งส่วนตัวผู้สมัคร (จากการเลือกผู้สมัครรายบุคคล) ตามแต่พรรคการเมืองได้แจ้งความจำนงไว้ หากผู้มีสิทธิเลือกตั้งเจาะจงเลือกผู้สมัคร คะแนนนี้จะเป็นของผู้สมัครโดยตรง แต่หากผู้มีสิทธิเลือกตั้งเลือกทั้งคนทั้งพรรค จะกลายเป็นบัตรเสียเพราะการเลือกตั้งอนุญาตให้เลือกได้เพียงครั้งเดียว เมื่อทำเครื่องหมายเสร็จก็นำบัตรหย่อนใส่หีบ และคะแนนจะถูกนับด้วยมือเช่นเดียวกับในประเทศไทย โดยพรรคการเมืองจะต้องมีเสียงมากกว่าร้อยละ 2 ของคะแนนเสียงทั้งหมดจึงสามารถมีผู้แทนในสภา

วันเลือกตั้ง (ที่มา http://www.cphpost.dk/news/politics/90-politics/52062-election-11--how-does-it-work.html)
พรรคการเมืองในเดนมาร์ก
พรรคการเมืองแบ่งเป็นสองขั้ว คือพันธมิตรสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นฝ่ายรัฐบาลในสมัยที่ผ่านมา และพ่ายแพ้การเลือกตั้งครั้งนี้ มีแนวคิดไปทางเสรีนิยม และพันธมิตรสีแดง ซึ่งเป็นฝ่ายค้านในสมัยที่ผ่านมา และชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ มีแนวคิดไปทางสังคมนิยม ตัวอักษรหลังชื่อพรรคในวงเล็บคือสัญลักษณ์พรรค
ในเดนมาร์ก กลุ่มพันธมิตรทั้งสองจะมีเสียงไม่ต่างกันมากนัก และเป็นระบบหลายพรรค การชนะการเลือกตั้งแบบถล่มทลายจะไม่เกิดขึ้นในระบบการเมืองเดนมาร์ก

ป้ายหาเสียงของ Helle Thorning-Schmidt จากพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย (ซ้าย) และป้ายหาเสียงของ Lars Løkke Rasmussen จากพรรคเสรีนิยม (ขวา)
พันธมิตรสีน้ำเงิน (Blue Coalition): จำนวนผู้แทนสมัยก่อนหน้า 94 คน จำนวนผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้ง 86 คน
ในรัฐบาลสมัยที่แล้ว มีพรรครัฐบาลสองพรรคคือ พรรคเสรีนิยม (Venstre) และพรรคอนุรักษ์นิยม (Det Konservative Folkeparti) ส่วนพรรคที่เหลือเป็นพรรคสนับสนุนรัฐบาล แต่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ พันธมิตรสีน้ำเงินต้องกลายเป็นฝ่ายค้านแทน พันธมิตรสีน้ำเงินจะมีแนวคิดสนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม รวมถึงมีแนวคิดด้านสังคมที่ค่อนข้างขวา ผู้สนับสนุนส่วนใหญ่มักเป็นผู้ที่ค่อนข้างมีฐานะ ชนชั้นกลาง หากเปรียบเทียบกับพันธมิตรสีแดงที่ผู้สนับสนุนมักเป็นแรงงาน
พรรคเสรีนิยม (Venstre - V): จำนวนผู้แทนสมัยก่อนหน้า 46 คน จำนวนผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้ง 47 คน
เป็นพรรครัฐบาลในสมัยที่แล้ว คำว่า Venstre ในภาษาเดนิชแปลตรงตัวว่า "ซ้าย" แต่ความเป็นจริงพรรคนี้เป็นพรรคกลางขวา เนื่องจาก เมื่อประมาณร้อยปีก่อน พรรคนี้ถือว่าอยู่ทางซ้ายเมื่อแข่งขันกับพรรคอนุรักษ์นิยม ดังนั้น "ซ้าย" ในนิยามของเดนมาร์กจึงหมายถึงเสรีนิยม พรรคนี้มีแนวคิดเป็นเสรีนิยมในทางเศรษฐกิจ มีนโยบายคงภาษีไว้เช่นเดิมหรือลดภาษี พยายามสร้างวินัยทางการคลังและเพิ่มประสิทธิภาพในระบบเศรษฐกิจผ่านการตัดงบประมาณและสวัสดิการ ซึ่งเป็นนโยบายที่ถูกบางฝ่ายมองว่ามุ่งทำลายรัฐสวัสดิการ และเอื้อประโยชน์แก่คนรวย (ทั้งนี้ เดนมาร์กเป็นประเทศที่ภาษีสูงที่สุดในกลุ่ม OECD และมีขนาดเศรษฐกิจภาครัฐใหญ่เป็นอันดับต้นๆของโลก) นอกจากนี้ยังออกกฎหมายผู้อพยพที่เข้มงวดมาก รวมถึงการวางแผนตั้งด่านตรวจคนเข้าเมืองที่ชายแดน (ซึ่งผิดสนธิสัญญาเชงเก้น แต่รัฐบาลเลี่ยงบาลีไปใช้คำว่าด่านศุลกากร ซึ่งก็ฟังไม่ขึ้นเพราะศุลกากรเดนมาร์กไม่เข้มงวดมากนักในการตรวจสิ่งของ ทั้งยังมีภาษีสุราที่ค่อนข้างต่ำ) โดยพรรคนี้เข้าสู่อำนาจตั้งแต่ปี 2544 โดยชนะการเลือกตั้งอีกสองครั้งในปี 2548 และ 2550
พรรคเสรีนิยมถูกโจมตีอย่างมากว่าทำให้เดนมาร์กมีความเหลื่อมล้ำสูงขึ้น แม้นับว่ายังน้อย หากเปรียบเทียบกับไทยหรือสหรัฐอเมริกา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นขัดกับคุณค่าในเรื่องความเท่าเทียมที่คนสแกนดิเนเวียยึดถือ นอกจากนี้ปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบันก็เป็นอีกจุดอ่อนหนึ่งของพรรค เพราะในปัจจุบัน เดนมาร์กขาดดุลงบประมาณ 121,000 ล้านโครนเดนมาร์ก (ประมาณ 600,000 ล้านบาท) จากปี 2549 ที่เดนมาร์กยังเกินดุลงบประมาณ (แต่เศรษฐกิจภาพรวมยังถือว่าค่อนข้างแข็งแกร่ง หากเทียบกับเศรษฐกิจยุโรปอื่นๆ) โดยถูกกล่าวหาว่าลดภาษีเพื่อช่วยคนรวย และนำเงินไปอุ้มธนาคารที่มีปัญหามากเกินไป ทั้งยังถูกโจมตีเรื่องการพึ่งพิงพรรคคนเดนมาร์ก ซึ่งเป็นพรรคขวาจัด ในการผ่านกฎหมายต่างๆ มากเกินไป
แม้ในการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคเสรีนิยมจะได้ผู้แทนเพิ่มขึ้น 1 คน และเป็นพรรคที่มีจำนวนผู้แทนมากที่สุดต่ออีกสมัย แต่พรรคเสรีนิยมต้องกลายเป็นฝ่ายค้าน เพราะมีเสียงสนับสนุนจากพรรคในพันธมิตรสีน้ำเงินน้อยกว่าพรรคพันธมิตรสีแดง หัวหน้าพรรคคนปัจจุบันชื่อ Lars Løkke Rasmussen ซึ่งรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจาก Anders Fogh Rasmussen หัวหน้าพรรคคนก่อนที่ไปรับตำแหน่งเลขาธิการนาโตในปี 2009 โดยไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ทำให้มีคนบางกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากประชาธิปไตย และมีภาพลักษณ์ผู้นำที่ไม่แข็งแกร่งหากเทียบกับคู่แข่งจากพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย และยังมีคะแนนความนิยมตามโพลต่ำกว่าพรรคสังคมนิยมมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2553

ป้ายหาเสียงของผู้สมัครรายหนึ่งจากพรรคเสรีนิยม
พรรคอนุรักษ์นิยม (Det Konservative Folkeparti - C): จำนวนผู้แทนสมัยก่อนหน้า 18 คน จำนวนผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้ง 8 คน
เป็นพรรคร่วมรัฐบาลในสมัยที่แล้ว มีแนวคิดอนุรักษ์นิยม สนับสนุนธุรกิจ ลดภาษี ถูกมองว่าเป็นพรรคของคนรวยมาช้านาน มีความพยายามเป็นพรรคที่เชื่อมพันธมิตรทางการเมืองทั้งสอง โดยมีความพยายามร่วมมือกับพรรคสังคม-เสรีนิยม ซึ่งเป็นพรรคพันธมิตรสีน้ำเงิน ทำให้มีปัญหาด้านจุดยืนพอสมควร หัวหน้าพรรคชื่อ Lars Barfoed รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในสมัยที่แล้ว
ในการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคอนุรักษ์นิยมแพ้การเลือกตั้งอย่างมาก ซึ่งสาเหตุอาจมาจากจุดยืนด้านเศรษฐกิจที่ไม่ชัดเจน และปัญหาการบริหารงานภายใน ทำให้ผู้สนับสนุนบางส่วนไปลงคะแนนให้พรรคพันธมิตรเสรีนิยมที่มีจุดยืนด้านเศรษฐกิจที่เสรีมากกว่าแทน

ป้ายหาเสียงของผู้สมัครรายหนึ่งจากพรรคอนุรักษ์นิยม
พรรคคนเดนมาร์ก (Dansk Folkeparti – O): จำนวนผู้แทนสมัยก่อนหน้า 25 คน จำนวนผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้ง 22 คน
พรรคนี้น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นพรรคที่มีอุดมการณ์ชาตินิยม ขวาจัด ต่อต้านชาวต่างชาติ สนับสนุนนโยบายผู้อพยพที่เข้มงวดมาก แต่ในขณะเดียวก็มีอุดมการณ์ด้านเศรษฐกิจไปทางซ้าย สนับสนุนรัฐสวัสดิการและเป็นพรรคประชานิยม คือ สนับสนุนอะไรก็ได้ แต่มีจุดยืนหลักในเรื่องผู้อพยพที่เข้มงวดและรุนแรงมาก พรรคนี้เคยเป็นพรรคสนับสนุนรัฐบาลในรัฐบาลที่แล้ว โดยได้คะแนนเสียงเพิ่มขึ้นในการเลือกตั้งทุกครั้งตั้งแต่ปี 2541 จนถึงปี 2550 และเป็นพรรคที่เริ่มต้นกระแสขวาจัดในยุโรปในปัจจุบัน แม้ไม่ใช่พรรครัฐบาลในสมัยที่แล้ว แต่พรรคนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในการผ่านกฎหมายต่างๆ พูดได้ว่านโยบายผู้อพยพของรัฐบาลเสรีนิยมที่เข้มงวดมาก ล้วนมากจากการผลักดันของพรรคนี้ เพื่อแลกกับการสนับสนุนพรรคเสรีนิยมในประเด็นอื่น เช่น ด้านเศรษฐกิจ ทั้งพรรคนี้ยังทำให้การเมืองเดนมาร์กเป็นฝักฝ่าย บั่นทอนภาพลักษณ์ของการเมืองแบบประนีประนอม เพราะพรรคในพันธมิตรสีแดงไม่สนับสนุนพรรคนี้ และไม่ยอมผ่านกฎหมายต่างๆ ของพรรคเสรีนิยม ทำให้กฎหมายต่างๆผ่านด้วยเสียงที่เกินครึ่งเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ภาพลักษณ์ของพรรคนี้ในหมู่นักศึกษาเดนมาร์กที่ผู้เขียนได้สัมผัสค่อนข้างแย่ เพราะเป็นพรรคขวาจัดที่มีมุมมองต่อคนต่างชาติค่อนข้างคร่ำครึ ส่งออกกระแสขวาจัดที่คนทั่วไปไม่ยอมรับ และอาจมีส่วนในการทำให้พันธมิตรสีน้ำเงินแพ้การเลือกตั้งครั้งนี้ โดยการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคนี้มีผู้แทนลดลงเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ แต่ก็ยังนับว่าสูงมากกว่าที่โพลต่างๆคาดการณ์ไว้ และยังรักษาฐานเสียงไว้ได้ดี เป็นพรรคที่มีผู้แทนมากเป็นอันดับสามเช่นเดิม ซึ่งมีผู้ให้ความเห็นว่าอาจมาจากการที่ผู้สนับสนุนพรรคนี้ไม่กล้าบอกโพลเพราะอายที่จะประกาศตัวเป็นผู้สนับสนุนพรรคขวาจัด ฐานเสียงส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ เพราะพรรคนี้สนับสนุนการเพิ่มเงินบำนาญ หัวหน้าพรรคชื่อ Pia Kjærsgaard

ป้ายหาเสียงของผู้สมัครรายหนึ่งจากพรรคคนเดนมาร์ก
พรรคพันธมิตรเสรีนิยม (Liberal Alliance – I): จำนวนผู้แทนสมัยก่อนหน้า 5 คน จำนวนผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้ง 9 คน
พรรคนี้ตั้งขึ้นในปี 2550 โดยผู้แทนจากพรรคสังคม-เสรีนิยม และพรรคอนุรักษ์นิยม สนับสนุนอุดมการณ์เสรีนิยมทางเศรษฐกิจ โดยข้อเสนอหลักคือลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลงมาที่ร้อยละ 40 (ปัจจุบันภาษีขั้นสูงอยู่ที่ร้อยละ 63 เทียบกับประเทศไทยที่ร้อยละ 37) หัวหน้าพรรคชื่อ Anders Samuelsen พรรคนี้ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยได้คะแนนเสียงเพิ่มจากผู้สนับสนุนพรรคอนุรักษ์นิยมบางส่วน

ป้ายหาเสียงของผู้สมัครรายหนึ่งจากพรรคอนุรักษ์นิยม
พันธมิตรสีแดง (Red Coalition): จำนวนผู้แทนสมัยก่อนหน้า 81 คน จำนวนผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้ง 89 คน
เป็นพันธมิตรพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ มีพรรคจำนวน 4 พรรค โดยพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย (Socialdemokraterne) และพรรคคนสังคมนิยม (Socialistisk Folkeparti) วางแผนเป็นพรรครัฐบาลร่วมกัน มีการดำเนินการหาเสียง แถลงนโยบายร่วมกันมาโดยตลอด และประกาศไม่แย่งฐานเสียงกันเองโดยเปิดเผย ส่วนพรรคสังคม-เสรีนิยม (Radikale Venstre) ที่อยู่ขวาสุด ที่วางแผนว่าอาจเข้าร่วมรัฐบาลหรือเป็นเพียงพรรคสนับสนุน วันนี้มีโอกาสเป็นพรรคร่วมรัฐบาลมากกว่าเพราะมีผู้แทนได้รับการเลือกตั้งค่อนข้างมาก และพรรคเอกภาพ (Enhedslisten) ที่อยู่ซ้ายสุดเป็นพรรคสนับสนุนรัฐบาล พันธมิตรสีแดงนี้จะมีอุดมการณ์สังคมนิยม เน้นการเพิ่มสวัสดิการสังคมต่างๆ และการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ซึ่งเป็นคุณค่าหลักของสังคมสแกนดิเนเวีย โดยมีผู้สนับสนุนส่วนใหญ่เป็นชนชั้นแรงงาน และแรงงานซึ่งเป็นชนชั้นกลาง รวมถึงนักศึกษาส่วนใหญ่ที่ต้องการสังคมที่เท่าเทียม (ทั้งนี้ ยกเว้นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยที่ผู้เขียนศึกษาอยู่ ซึ่งเป็นโรงเรียนธุรกิจ ทำให้นักศึกษาโน้มเอียงไปทางพันธมิตรสีน้ำเงินมากกว่า)
พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย (Socialdemokraterne -A): จำนวนผู้แทนสมัยก่อนหน้า 45 คน จำนวนผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้ง 44 คน
พรรคนี้เป็นพรรคสังคมนิยมตามแบบยุโรป สนับสนุนสวัสดิการสังคม ผู้ใช้แรงงาน ผู้ด้อยโอกาส แต่ก็ได้ย้ายตัวเองเข้ามาใกล้ตรงกลางมากขึ้น หลังกระแสเสรีนิยมตั้งแต่ 10 ปีก่อน ตามพรรคแรงงานของอังกฤษ และพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยของเยอรมนี พรรคนี้เป็นเคยพรรคขนาดใหญ่ที่สุดมาเป็นเวลาประมาณ 70 ปี จนถึงปี 2544 ได้กลายเป็นพรรคฝ่ายค้านที่ใหญ่ที่สุด และมีคะแนนเสียงที่ใกล้เคียงกับพรรคเสรีนิยมอย่างมากในการเลือกตั้งครั้งก่อน มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการเพิ่มเวลาทำงานวันละ 12 นาที การเพิ่มการจ้างงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มรายได้ภาษี และการกู้เงินเพิ่มเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งยังเป็นแผนที่ไม่ชัดเจนและเป็นที่สงสัยว่าจะทำได้สำเร็จหรือไม่ มีนโยบายผู้อพยพที่ไม่อ่อน แต่ไม่แข็งกร้าว เพราะจะคงนโยบายของพรรคเสรีนิยมบางอย่างไว้ เช่น กฎ 24 ปี ที่เกือบจะไม่อนุญาตให้คู่แต่งงานอพยพเข้าเดนมาร์ก หากคู่บ่าวสาวคนใดคนหนึ่งอายุไม่ถึง 24 ปี ซึ่งเป็นประเด็นที่พรรคนี้มีความขัดแย้งกับพรรคคนสังคมนิยม
ผลการเลือกตั้งที่ออกมา พรรคนี้ได้จำนวนผู้แทนลดลงหนึ่งคน แต่หัวหน้าพรรค Helle Thorning-Schmidt จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของเดนมาร์ก เพราะได้เสียงสนับสนุนจากพรรคพันธมิตรมากกว่ากลุ่มพันธมิตรสีน้ำเงิน ซึ่งสาเหตุที่พรรคนี้ได้บริหารประเทศมาจากปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบันที่เกิดขึ้นภายหลังการบริหารงาน 10 ปีของพรรคเสรีนิยม กระแสต่อต้านพรรคคนเดนมาร์กซึ่งสนับสนุนพรรคเสรีนิยม และภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำของ Helle Thorning-Schmidt ที่เข้มแข็งกว่า Lars Løkke Rasmussen

ป้ายหาเสียงของ Helle Thorning-Schmidt จากพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย แปลได้ว่า เราต้องลงทุนในเยาวชน ไม่ใช่ตัดงบประมาณการศึกษา
พรรคคนสังคมนิยม (Socialistisk Folkeparti -F): จำนวนผู้แทนสมัยก่อนหน้า 23 คน จำนวนผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้ง 16 คน
เป็นพรรคที่มีอุดมการณ์สังคมนิยมและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยถูกมองว่าซ้ายกว่าพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย โดยการเลือกตั้งในปี 2550 มีคะแนนเสียงเพิ่มขึ้นถึงเท่าตัวจากการเลือกตั้งครั้งก่อนหน้า กลายเป็นพรรคอันดับสี่ พรรคนี้มีจุดเด่นด้านนโยบายสวัสดิการสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ซ้ายกว่าพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยซึ่งถูกมองว่าอยู่ตรงกลางมากเกินไป (รวมถึงตัว Helle Thorning-Schmidt เอง ที่ถูกมองว่าค่อนข้างโน้มเอียงไปตรงกลางเมื่อเทียบกับกลุ่มการเมืองอื่นภายในพรรค) แต่จุดอ่อนคือความกังวลว่าพรรคนี้จะพยายามขึ้นภาษีและนโยบายเศรษฐกิจ หัวหน้าพรรคคนปัจจุบันชื่อ Villy Søvndal และพรรคนี้ไม่เคยอยู่ในรัฐบาลมาก่อน
แต่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคคนสังคมนิยมมีจำนวนผู้แทนลดลงค่อนข้างมาก จนน้อยกว่าพรรคสังคม-เสรีนิยม ซึ่งสาเหตุน่าจะมาจากการสูญเสียความโดดเด่นเพราะความร่วมมือที่ใกล้ชิดพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยมากเกินไป และการเปลี่ยนท่าทีให้ประนีประนอมมากขึ้น ทำให้ถูกมองว่าละทิ้งอุดมการณ์ซ้ายของตนเอง จนทำให้ผู้สนับสนุนบางส่วนย้ายไปลงคะแนนเสียงให้กับพรรคเอกภาพที่อยู่ซ้ายสุดแทน

การแถลงข่าวร่วมกันของ Helle Thorning-Schmidt จากพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย และ Villy Søvndal จากพรรคคนสังคมนิยม (ที่มา http://www.cphpost.dk/news/politics/90-politics/52108-despite-divisions-opposition-remains-poised-for-power.html)

ป้ายหาเสียงของผู้สมัครรายหนึ่งจากพรรคคนสังคมนิยม (บน) และจากพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย (ล่าง)

ป้ายหาเสียงของ Villy Søvndal หัวหน้าพรรคคนสังคมนิยม
พรรคสังคม-เสรีนิยม (Det Radikale Venstre - B): จำนวนผู้แทนสมัยก่อนหน้า 9 คน จำนวนผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้ง 17 คน
ชื่อพรรคนี้ แปลตรงตัวตามภาษาเดนิชว่าพรรค "ซ้ายสุดขั้ว" แต่ความเป็นจริงพรรคนี้คือพรรคสังคม-เสรีนิยม (Social Liberal) ที่มีอุดมการณ์ใกล้เคียงกับพรรคเสรีประชาธิปไตยของอังกฤษ (Liberal Democrats) และพรรคเดโมแครตของสหรัฐอเมริกา เพราะเป็นพรรคเสรีนิยมที่อยู่ทางซ้ายกว่าพรรคเสรีนิยม (Venstre) พรรคนี้มีอุดมการณ์เศรษฐกิจที่ขวาที่สุดในพันธมิตรสีแดงเพราะสนับสนุนเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม แต่ยังใส่ใจประเด็นด้านสวัสดิการมากกว่าพรรคเสรีนิยม โดยพรรคนี้เป็นพรรครัฐบาลและพรรคสนับสนุนรัฐบาลหลายครั้ง และวางตัวเองอยู่ตรงกลาง หรือกลางซ้าย เข้าร่วมกับรัฐบาลได้ทั้งขวาและซ้าย แต่มีนโยบายผู้อพยพที่ต่างกับพรรคเสรีนิยมอย่างมาก เพราะต้องการยกเลิกกฎ 24 ปี และมีจุดยืนที่ซ้ายที่สุดในเรื่องผู้อพยพ ซึ่งเป็นจุดแข็งอย่างมากของพรรคนี้ เพราะกลายเป็นตัวเลือกของผู้สนับสนุนเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม แต่ต่อต้านพรรคคนเดนมาร์กที่มีแนวคิดขวาจัด (หากสนับสนุนพรรคเสรีนิยม ก็เท่ากับสนับสนุนการมีอยู่ของพรรคขวาจัดในรัฐบาล) แต่จุดอ่อนคือความสัมพันธ์ที่ไม่ดีนักกับพรรคคนสังคมนิยม หัวหน้าพรรคคือ Margrethe Vestager

Margrethe Vestager หัวหน้าพรรคสังคม-เสรีนิยม (ซ้าย) และ Pia Kjærsgaard หัวหน้าพรรคคนเดนมาร์ก ในรายการโทรทัศน์ "เกมเศรษฐี" (ที่มาhttp://multimedia.pol.dk/archive/00575/Margrethe_Vestager__575351y.jpg)
โดยในการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคสังคม-เสรีนิยมประสบความสำเร็จอย่างสูง เพราะได้ผู้แทนมากขึ้นเกือบ 2 เท่า กลายเป็นพรรคที่มีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ และมีโอกาสในการผลักดันนโยบายด้านผู้อพยพ การศึกษา และการเกษียณอายุก่อนกำหนดได้เป็นอย่างมาก นอกจากนี้ พรรคเสรีนิยมยังเคยเสนอจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคสังคม-เสรีนิยม แทนพรรคคนเดนมาร์กอีกด้วย ถือได้ว่าเสียงสนับสนุนของพรรคนี้เป็นทั้งเสียงของคนที่สนับสนุนสวัสดิการสังคม แต่ต้องการนโยบายเศรษฐกิจที่โน้มเอียงไปทางทุนนิยม และทั้งคนที่ไม่เห็นด้วยกับพรรคคนเดนมาร์ก

ป้ายหาเสียงของผู้สมัครรายหนึ่งจากพรรคสังคม-เสรีนิยม
พรรคเอกภาพ (Enhedslisten -Ø): จำนวนผู้แทนสมัยก่อนหน้า 4 คน จำนวนผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้ง 12 คน
พรรคนี้เป็นพรรคที่ซ้ายที่สุดในพันธมิตรสีแดง เกิดจากการรวมตัวของพรรคซ้ายจัดและพรรคคอมมิวนิสต์ในปี 1989 มีจุดเด่นด้านนโยบายสวัสดิการต่างๆที่ครอบคลุมยิ่งขึ้นมาก และมีจุดยืนต่อต้านทุนนิยมอย่างชัดเจน ส่วนนโยบายผู้อพยพก็เสรีที่สุดเช่นกัน โดยอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับพรรคสังคม-เสรีนิยม พรรคนี้ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมากในหมู่เยาวชนที่ต้องการเห็นโลกที่งดงาม โดยได้จำนวนผู้แทนเพิ่มขึ้นถึงสามเท่าจากการเลือกตั้งครั้งก่อน และเป็นพรรคหนึ่งที่มีความสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่โดย Helle Thorning-Schmidt พรรคนี้ไม่มีหัวหน้าพรรค เพราะมีคณะกรรมการชี้นำพรรคร่วมกัน แต่มีโฆษกพรรคชื่อ Johanne Schmidt-Nielsen ซึ่งได้เป็นผู้แทนครั้งแรกในการเลือกตั้งเมื่อ 4 ปีก่อน ขณะที่เธอมีอายุเพียง 23 ปี และยังได้คะแนนเลือกตั้งส่วนตัวมากกว่า Helle Thorning-Schmidt ในเขตเลือกตั้งกรุงโคเปนเฮเกน

Johanne Schmidt-Nielsen โฆษกพรรคเอกภาพ (ที่มาhttp://multimedia.pol.dk/archive/00577/Enhedslisten_holder_577173a.jpg)
ยังไม่จบ คลิกอ่านต่อที่นี่
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น