 |
บนความเชี่ยวกรากของมหาอุทกภัยที่เล่นงานมหานครเมืองกรุงเทพเสียอยู่หมัดในตอนนี้ ความเคลื่อนไหวที่ต้องติดตามต่อเนื่องในวงการอสังหาริมทรัพย์ก็คือ มุมมองของกลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพสถาปนิก "ประชาชาติธุรกิจ" สัมภาษณ์ "พี่แจ็ก-ทวีจิตร จันทรสาขา" นายกสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อร่วมมองต่างมุมกับปัญหาน้ำท่วม และทิศทางที่ประเทศไทยควรจะเดินต่อไปหลังจากนี้
- มุมมองปัญหาน้ำท่วมครั้งนี้
(นิ่งคิด) จริง ๆ แล้วผมไม่ค่อยอยากพูดถึงอดีตที่ผ่านมาแล้ว เท่าที่มองเห็นและติดตามมาตลอด ปัญหามาจาก "การบริหารจัดการ" บางท่านก็บอกว่า น้ำเยอะ ใครก็ทำไม่ไหว เรื่องนี้ไม่เถียง แต่ถ้าบริหารดีผมว่าไม่เป็นแบบนี้
มุมมองผมอยากให้นำอดีตมารับใช้อนาคตที่จะตามมา
ผมเชื่อว่ามีท่านผู้รู้อยู่มากมาย รู้ว่าน้ำจะไหลมาแบบไหน ประเทศไทยมีฐานข้อมูลตรงนี้เยอะ มีภาพถ่ายดาวเทียมของ GISTDA (สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ-องค์การมหาชน) แสดงความสูงต่ำในแต่ละพื้นที่ สามารถนำใช้คำนวณเส้นทางได้ว่าน้ำจะมาแล้ว จะไปไหนยังไง ไม่ใช่ว่าต้องเดาว่าน้ำจะไหลไปทางไหน เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว เอามาใช้ได้เลย
ผมจึงบอกว่า ถึงเวลาแล้วที่รัฐจะต้องทำระบบบริหารจัดการเรื่องน้ำท่วมเป็น "วาระแห่งชาติ" ข้อมูลต่าง ๆ ถือว่ามีอยู่แล้ว ไม่ต้องนับหนึ่งใหม่ แต่นำมา อินทิเกรต กำหนดแผนการดำเนินการให้เป็นขั้นตอน
และไม่จำเป็นต้องตั้งองค์กรใหม่ เพียงแต่ต้องวางระบบบริหารจัดการ มีคนสั่งการชัดเจน และนำเสนอสาธารณะเป็นขั้นตอน คีย์สำคัญคือ ต้องการผู้นำที่มาตัดสินใจ
- มีข้อเสนอแนะอะไรบ้าง
ดาต้าเบสที่เชื่อถือได้ตอนนี้ของ GISTDA เป็นภาพสำรวจ "ระดับสูงต่ำ" ทางพื้นที่ จะทราบว่าน้ำจะขังตรงไหน คำนวณได้ก็ต้องต่อเชื่อมกัน ตรงไหนที่น้ำไม่สามารถเชื่อมต่อกันได้ก็อาจกำหนดเป็นพื้นที่ทางไหลน้ำหรือทางรับน้ำ (Flood Way) เหมือนผังเมืองที่ถูกกำหนดเป็นพื้นที่สีเขียว แต่ผังเมืองมีเฉพาะเมือง แต่พื้นที่ส่วนอื่นต้องถูกบริหารจัดการด้วย ซึ่งตรงนี้ก็คือพื้นที่ทางเกษตร
สำหรับข้อเสนอ ผมมองเรื่องนำภาษีที่อยู่อาศัยที่มีระบบป้องกันน้ำท่วมมาช่วยในพื้นที่ฟลัดเวย์ ทำผังเมืองให้สามารถอยู่ในพื้นที่รับน้ำได้ โดยอาจจะออกเป็นเทศบัญญัติ
ตัวอย่างเช่น การจะก่อสร้างที่อยู่อาศัยในพื้นที่ฟลัดเวย์ต้องสร้างเป็นอาคาร 2 ชั้น ชั้นล่างควรให้มีปริมาณน้ำผ่านได้เท่าไหร่ ตรงนี้ต้องมีเงินกองทุนสนับสนุนการปรับปรุงอาคาร ให้อาคารบ้านพักอาศัยตรงพื้นที่รับน้ำอยู่ได้กับน้ำที่มีการท่วมขัง ถือเป็นผู้เสียสละ ก็ต้องชดเชยเรื่องภาษีให้เขาไป
ในระดับนโยบาย รัฐบาลคงต้องออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนสิทธิที่ดิน บางพื้นที่อาจทำเป็นคลองใหญ่หรือขุดลอกคูคลองต่อเนื่อง บางพื้นที่ทำเป็นฟลัดเวย์ต่อไป
- สมาคมสถาปนิกฯจะทำอะไรได้บ้าง
มีเรื่องจะทำหลัก ๆ 2 เรื่องนะครับ 1) ใช้ความรู้เข้าไปช่วยเรื่องการฟื้นฟู เพราะเป็นความเดือดร้อนของชาติ และ 2) ทางสถาปนิกจะรณรงค์การทำอาคารให้รับน้ำได้
- หมายถึงอาคารอยู่กับน้ำท่วมได้
ครับ สมัยก่อนจะเห็นว่าชาวบ้านไม่กลัวน้ำท่วม คือสร้างบ้านใต้ถุนสูง และใช้เรือเดินทาง เดี๋ยวนี้วิถีชีวิตเปลี่ยน สิ่งที่จะทำก็จะรณรงค์ดีไซน์ "แบบบ้าน" และ "อาคาร" ในพื้นที่รับน้ำ ทำเป็นไกด์ไลน์ให้ประชาชนนำไปปรับปรุงใช้ได้
สำหรับ "แบบบ้าน" หลักการสำคัญ เช่น น้ำท่วมสูง 2 เมตรก็ยังสามารถอยู่ในบ้านได้โดยไม่ลำบาก จะอยู่ได้ไม่ลำบากมีเรื่องสำคัญ 2-3 เรื่องคือ 1) ระบบสาธารณูปโภค เช่น สุขา ระบบน้ำประปา ไฟฟ้า ยังใช้ได้อยู่ จะนำเสนอการออกแบบหรือรูปแบบที่อยู่ในวิสัยที่ประชาชนลงทุนทำได้จริง
ตัวอย่างระบบบ่อบำบัด ถังบำบัด ถูกยกขึ้นมาบนดิน และต้องดีไซน์ให้ อยู่บนดิน เพราะบ่อพวกนี้เดิมต้องลงดิน สาเหตุที่ต้องอยู่ในดินเพราะแรงกราวิตี้ (ดึงดูด-โน้มถ่วง) ไอเดียคือ อาจจะแยกเป็น 2 ถัง มีถังบนดินกับถังในดิน
2) ระบบบริหารจัดการน้ำ ระบบรับน้ำฝนเก็บไว้ อาจดีไซน์ให้เก็บไว้ใต้หลังคาได้ 3) ระบบไฟแสงสว่าง ต้องมีการจัดการ เช่น ระบบโซลาร์เซลล์ แต่ก็มีราคาสูง จะทำได้ต้องมีระบบบริหารจัดการรวม ตอนนี้ที่คุยกันคร่าว ๆ ในกลุ่มวิชาชีพคือเรามองเรื่อง "ผังเมืองชุมชน"
อย่างกรณีที่เกิดภัยพิบัติแล้วควรจะต้องมีจุดกระจายความช่วยเหลือ
คล้าย ๆ "ศูนย์กระจายความช่วยเหลือ" ปัญหาตอนนี้คนที่อยู่ลึกเข้าไปจะลำบาก การช่วยเหลือ ถุงยังชีพเข้าไปไม่ถึง ผมอยากจะเรียกว่าศูนย์เตรียมการรับมืออุบัติภัย ทั้งแผ่นดินไหว น้ำท่วม เหตุฉุกเฉิน หลักการคือมีศูนย์กระจายเพียงพอ มีทุกพื้นที่ ไม่ใช่ต้องพายเรือเข้าไป 3 ชั่วโมง
- แนวคิดอาคารในพื้นที่รับน้ำ
ตอนนี้ที่มีปัญหาในพื้นที่รับน้ำคืออาคารรุ่นเก่า เช่น โรงพยาบาล เครื่องกำเนิดไฟ เครื่องมือแพทย์ ซีทีสแกน ส่วนใหญ่อยู่ชั้นล่าง-ใต้ดิน ย้ายไม่ทัน ต้อง "คิดใหม่" มาปรับปรุงอาคารกันใหม่ มีเครื่องมือหลายอย่าง องค์กรปกครองท้องถิ่นสามารถออกประกาศ (กฎหมาย) ได้
- การวางระบบป้องกันน้ำท่วมยังมีน้อย
ไม่น้อยนะ แต่ปัญหาคือแยกกันทำ สิ่งที่อยากเห็นคือต้องมาคิดรวมกันทั้งหมด (บูรณาการ) ไม่ใช่เฉพาะจังหวัด ซึ่งจริง ๆ แล้วจังหวัดคือการแยกพื้นที่ทางปกครอง แต่ภูมิศาสตร์จะติดต่อกันหมด เพราะทุกเรื่อง ทุกจังหวัดต่อกันหมด แต่กลายเป็นว่าตอนนี้ต่างคน ต่างเช็กเป็นจุด ๆ
- หลังน้ำลด การฟื้นฟูเมืองจะต้องทำอย่างไร
อันดับแรก 1) ต้องให้ความสำคัญเรื่องระบบโลจิสติกส์ ต้องกู้ระบบ ขนส่ง การติดต่อสื่อสาร และอนาคตต้องบริหารจัดการให้น้ำท่วมแล้ว เส้นทางโลจิสติกส์สายเมนยังสามารถ ใช้เส้นทางได้ อาจจะต้องมีฟลัดเวย์ (พื้นที่รับน้ำ) เพื่อรักษาระบบโลจิสติกส์ไว้
แต่ต้องยอมรับตัวถนนก็สร้างปัญหาขวางทาง อาจจะต้องใช้วิธี "ขุดคลอง" เพื่อระบายน้ำให้ไหลผ่าน "เป็นช่วง" เรียกว่า (ช่องคอนกรีต) หรือ (ช่องระบายน้ำ) หรือทำช่องทางน้ำไหลคู่กับถนน ทุกวันนี้ถนนมีการออกแบบช่อง ระบายน้ำรองรับได้ไม่เพียงพอ สุดท้ายถนนก็ขวางทางน้ำไว้
ส่วนประเด็นการฟื้นฟูเมือง ก็ต้องใช้ภาพส่วนย่อยจากภาคไปหาจังหวัด เมือง ชุมชน ต้องเชื่อมโยงต่อกัน
- ควรมีคันกั้นน้ำถาวรตามนิคมอุตฯ หมู่บ้าน และเมืองหรือไม่
ผมมีความเชื่อเราไม่น่าจะชนะธรรมชาติ แต่เป็นการบริหารจัดการธรรมชาติให้สามารถอยู่ได้ในวิสัยที่ลำบากน้อยที่สุด คือจะทำยังไงลดผลกระทบจากธรรมชาติ กำหนดทิศทางน้ำไปในพื้นที่ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
ใช้เวลาไม่นานหรอกครับ แต่ต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้ วันนี้ถือว่ากรุงเทพฯมีการป้องกันที่ดีขึ้นกว่าในอดีต ถ้าจะเริ่มวันนี้ต้องใช้เงินมหาศาลมาก ๆ ซึ่งประเทศไทยยังไม่มีงบประมาณมากเท่ากับเนเธอร์แลนด์ อิตาลีที่เมืองเวนิซ ซึ่งเขาใช้เวลาทำมาเป็น 100-200 ปี แต่ไทยไม่รวยขนาดนั้น
- กระสอบทรายตอนนี้น้ำท่วมไปหลายล้านกระสอบ
ในภาวะแบบนี้แทบทุกอย่างถูกกระแสน้ำพัด คูคลองหลังจากนี้คงมีปัญหาบางแห่ง ก็ต้องมาดูแลบำรุงรักษา จริง ๆ ตัวแม่น้ำมีสูตรคณิตศาสตร์ น้ำ 1 คิวบิกเมตร (กว้าง 1 X ยาว 1 X สูง 1 เมตร) เท่ากับน้ำหนัก 1 ตัน กระแสน้ำจึงมีแรงปะทะมหาศาล
- เราเรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้
ประเทศไทยยังอ่อนเรื่องการบริหารจัดการ การบริหารจัดการควรทำในภาวะปกติ แต่ที่ผ่านมาทำในช่วงภาวะวิกฤต แต่พอหมดปัญหาก็ลืม
http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1320316887&grpid=no&catid=04&subcatid=
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น