วันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2554

กระทรวงต่างประเทศออกแถลงการณ์ชี้แจง หลัง 'ยูเอ็น' เรียกร้องไทยแก้กม. หมิ่น -พ.ร.บ. คอมพ์

 

กระทรวงต่างประเทศออกแถลงการณ์ชี้แจง หลัง 'ยูเอ็น' เรียกร้องไทยแก้กม. หมิ่น -พ.ร.บ. คอมพ์

 กระทรวงต่างประเทศออกแถลงการณ์ชี้แจง หลัง 'แฟรงค์ ลา รู' ผู้ตรวจการพิเศษด้านเสรีภาพการแสดงออกของ 'ยูเอ็น' เรียกร้องให้ไทยแก้ กม. อาญามาตรา 112 -พ.ร.บ. คอมพ์  ยอมรับกฎหมายดังกล่าวมีปัญหาจริง พร้อมแจง รบ. กำลังดำเนินการป้องกันการนำไปใช้ในทางที่ผิด

 สืบเนื่องจากเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (10 ต.ค. 54) 'แฟรงค์ ลา รู' ผู้ตรวจการพิเศษด้านเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลไทยแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ ให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยสากลนั้น

วันนี้ กระทรวงต่างประเทศได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงต่อสาธารณะในประเด็นดังกล่าว โดยระบุว่า กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของไทย "มิใช่กฎหมายพิเศษ หากแต่เป็นส่วนหนึ่งของประมวลกฎหมายอาญา เพื่อเป็นกลไกคุ้มครองพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง" ในลักษณะเดียวกับการให้ความคุ้มครองต่อบุคคลทั่วไป ต่างเพียงแค่พระมหากษัตริย์มิได้อยู่ในสถานะที่จะฟ้องร้องบุคคลใดได้ เนื่องจากอยู่เหนือความขัดแย้ง

อย่างไรก็ตาม กระทรวงการต่างประเทศยอมรับว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เกิดปรากฎการณ์ที่กฎหมายดังกล่าวถูกใช้ไปในทางที่ผิด ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทางรัฐบาลจึงได้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ส่งผลให้คดีที่ไม่มีหลักฐานเพียงพอจำนวนมากตกไป

นอกจากนี้ ยังระบุว่า ในส่วนของพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ มีการกำหนดให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องขอหมายศาลก่อนดำเนินการใดๆ ทำให้ป้องการการใช้กฎหมายดังกล่าวในทางละเมิดสิทธิ นอกจากนี้ ยังอยู่ในการพิจารณาเพื่อปรับปรุงแก้ไขกฎหมายดังกล่าวด้วย

 

0000

แถลงการณ์จากกระทรวงการต่างประเทศ

13 ตุลาคม 2554 

อ้างถึงแถลงการณ์ของนาย Frank La Rue ผู้เสนอรายงานพิเศษขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการปกป้องและพิทักษ์สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2554 เกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ของไทย กระทรวงการต่างประเทศขอให้ข้อมูล ดังนี้

ในฐานะสังคมเสรีประชาธิปไตย ประเทศไทยให้ความสำคัญกับความคิดเห็นต่าง ๆ เกี่ยวกับเรื่องกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของไทย ซึ่งมิใช่กฎหมายพิเศษ หากแต่เป็นส่วนหนึ่งของประมวลกฎหมายอาญา เพื่อเป็นกลไกคุ้มครองพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง กฎหมายดังกล่าวให้ความคุ้มครองต่อสิทธิส่วนพระองค์และชื่อเสียงของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทน ในลักษณะเดียวกับที่กฎหมายหมิ่นประมาท – ซึ่งเป็นความผิดทางอาญา – ให้ความคุ้มครองต่อบุคคลทั่วไป ทั้งนี้ ความแตกต่างอยู่ที่ภายใต้กฎหมายและรัฐธรรมนูญของไทย สถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งอยู่เหนือความขัดแย้งใด ๆ ไม่อยู่ในสถานะที่จะฟ้องร้องประชาชนของพระองค์เองได้

กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกหรือลิดรอนสิทธิเสรีภาพด้านวิชาการ อย่างไรก็ดี เมื่อใดที่คำวิพากษ์วิจารณ์หรือความคิดเห็นกลายมาเป็นข้อกล่าวหา บุคคลที่เกี่ยวข้องต้องพร้อมจะรับผิดชอบต่อความคิดเห็นของตน ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นแนวปฏิบัติทั่วไปไม่ว่าผู้ที่ตกเป็นเป้าหมายของการถูกกล่าวหาจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือสถาบันพระมหากษัตริย์

แม้กระนั้นก็ตาม ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้ปรากฏการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของกฎหมายฯ ในการเป็นกลไกเพื่อคุ้มครองพระเกียรติของพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง ซึ่งในบางกรณีอาจส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนด้วยเช่นกัน รัฐบาลตระหนักถึงศักยภาพของประเด็นปัญหาดังกล่าว และมุ่งที่จะป้องกันการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในทางที่ไม่ถูกต้อง

ในการนี้ จึงได้มีการดำเนินมาตรการที่เกี่ยวข้อง อาทิ การจัดตั้งคณะกรรมการพิจารณาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อพิจารณากลั่นกรองคำร้องต่าง ๆ ทั้งนี้ เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมีมาตรฐานที่ชัดเจนต่อเนื่อง รวมทั้งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายฯ ส่งผลให้คำร้องจำนวนมากตกไป เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่าขาดหลักฐานที่เพียงพอ

 สำหรับพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มีขึ้นเพื่อให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่รัฐในการห้ามชั่วคราวการเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อป้องกันและระงับการแพร่กระจายการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ทางอินเทอร์เน็ต อนึ่ง เพื่อป้องกันการใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติดังกล่าวในทางที่ไม่ถูกต้อง จึงกำหนดให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะต้องได้รับคำสั่งศาลก่อนที่จะดำเนินการใด ๆ ในปัจจุบัน พระราชบัญญัติดังกล่าวอยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไข โดยรัฐบาลจะรวบรวมความเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องรวมถึงผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล

ที่ผ่านมา หลายภาคส่วนในสังคมไทยได้มีการหารือและจัดโต้เวทีเชิงวิชาการเกี่ยวกับประเด็นเรื่อง กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ รวมถึงพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ การโต้เวทีดังกล่าวได้ให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่น่าสนใจ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาของรัฐบาลในเรื่องดังกล่าวต่อไป

กระทรวงต่างประเทศออกแถลงการณ์ชี้แจง หลัง 'แฟรงค์ ลา รู' ผู้ตรวจการพิเศษด้านเสรีภาพการแสดงออกของ 'ยูเอ็น' เรียกร้องให้ไทยแก้ กม. อาญามาตรา 112 -พ.ร.บ. คอมพ์  ยอมรับกฎหมายดังกล่าวมีปัญหาจริง พร้อมแจง รบ. กำลังดำเนินการป้องกันการใช้กฎหมายดังกล่าวในทางที่ผิด

 



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น