วันเสาร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2554

ชำแหละงบฯซื้อกล้อง CCTV กทม.บิ๊กลอต 2,400 ล้าน ข้อมูลที่ “สุขุมพันธ์”บอกไม่หมด

 

ชำแหละงบฯซื้อกล้อง CCTV กทม.บิ๊กลอต 2,400 ล้าน ข้อมูลที่ "สุขุมพันธ์"บอกไม่หมด

วันศุกร์ที่ 23 กันยายน 2011 เวลา 10:24 น. เขียนโดย isranews หมวด เรื่องเด่นisranews

          ผ่าละเอียดงบฯติดตั้งกล้องกล้องฉาว CCTV ของกรุงเทพมหานครจากอดีต-ปัจจุบัน ตะลึง! 3  ปีหมดเงินเกือบ 2.4 พันล้าน เพิ่งทำสัญญาจัดซื้อลอตใหญ่ ก.พ.-มี.ค. 2554  กว่า 1,800 ล้าน ตกอยู่ในอุ้งมือรายใหญ่ 4 ราย ที่ผู้ว่าฯกทม.ยังไม่บอก

          เรื่องอื้อฉาวกรณีกรุงเทพมหานครติดตั้งกล้องวงจรปิดเปล่าหรือกล้องดัมมี่ 500 จุดโดยระบุว่าเพื่อเป็นกลยุทธ์ลวงมิให้มีการกระทำผิดกฎหมายในช่วงเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง และยืนยันว่าไม่มีการทุจริตในการจัดซื้อกล้อง CCTV จำนวน 10,000 ตัวแต่อย่างใด

           เมื่อวันที่  21 กันยายน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ เขียนข้อความชี้แจงในเฟซบุ๊ก อธิบายถึงโครงการติดตั้งกล้องวงจรปิดหรือ CCTV  จำนวน 10,000 ตัว ทั่วกรุงเทพฯ ว่าไม่ใช่เป็นเรื่องการโกงกิน หรือการโกหกผลงาน แต่การที่ต้องติดตั้งกล่องเปล่าในบางจุดเพื่อความปลอดภัย และ กทม.กำลังดำเนินการติดกล้องเพิ่มตามนโยบาย แต่ยังมีกล่องเปล่าอยู่ประมาณ 500 จุด และกำลังไล่ติดกล้องเข้าไปในกล่องเปล่า

           ต่อมาได้แถลงข่าววันเดียวกันว่า งบประมาณ กทม. ปี 2555 สำนักการจราจรและขนส่งกรุงเทพฯมีแผนติดตั้งกล้องรวมทั้งสิ้นเป็นวงเงินกว่า 998 ล้านบาท

           อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่ยังไม่ถูกเปิดเผยให้สาธารณชนได้รับรู้ก็คืองบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้างติดตั้งกล้อง CCTV และผ่านเอกชนรายใดบ้าง? 

สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบมาเสนอดังนี้ 

           นับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2553 เป็นต้นมาจนถึงเดือนกุมภาพันธ์2554 หน่วยงานของ กทม.จัดซื้อกล้อง CCTV จำนวน  35  ครั้ง ผ่านเอกชน 11 ราย  รวมวงเงิน 2,385,036,951 บาท (สองพันสามร้อยแปดสิบห้าล้านสามหมื่นหกพันเก้าร้อยห้าสิบเอ็ดบาท)

เอกชนที่ได้รับการว่าจ้างมากมากที่สุด  (ตามจำนวนครั้ง)

บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด    จำนวน 12 ครั้ง วงเงินรวม 372,604,996  บาท  

บริษัท โคนิค เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด  7  ครั้ง  วงเงินรวม 54,864,500 บาท 

บริษัท จีเนียส ทราฟฟิค ซีสเต็ม จำกัด  5 ครั้ง  วงเงินรวม 376,315,000   บาท 

หากคิดตามวงเงิน เอกชนที่ได้รับการว่าจ้างมากสุด 

กลุ่มกิจการค้าร่วมยูเทล ซีคอม วงเงิน 775,800,000   บาท 

 กิจการร่วมค้า จีเนียส   402,050,000   บาท 

บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด    372,604,996 บาท  (ดูตารางประกอบ) 

          จากการตรวจสอบพบว่า บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด  ซึ่งได้รับการว่าจ้างมากสุด จำนวน 12 ครั้งนั้นได้รับว่าจ้างครั้งแรกในรื้อย้ายและติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดพร้อมอุปกรณ์ บริเวณวงเวียนใหญ่เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2552  วงเงิน 1,195,000  บาท  

          จากนั้นได้รับว่าจ้างเรื่อยมา กระทั่งได้รับจ้างเหมาจัดหาพร้อมติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด(CCTV) บริเวณชุมชน ตลาด จุดเปลี่ยนถ่ายในการเดินทาง และจุดเสี่ยงภัยภายใน กทม. เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2554   วงเงิน 327,602,000  บาท 

           บริษัท จีเนียส ทราฟฟิค ซีสเต็ม จำกัด   ได้รับว่าจ้างในช่วงปีงบประมาณ 2553 ถึง 2554  ลอตใหญ่ได้แก่ จ้างเหมาติดตั้งระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV)เพื่อการตรวจสอบและสั่งการแก้ไขปัญหาการจราจร เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2553 วงเงิน 168,155,000 บาท  

          บริษัท โคนิค เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด  ได้รับว่าจ้างในช่วงปีงบประมาณ 2552 ถึง 2553   การว่าจ้าง 3 ครั้งหลัง ได้แก่ จ้างเหมาติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV)พร้อมอุปกรณ์ประกอบบริเวณอาคารจอดรถยนต์ลานคนเมือง และรอบศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร   วงเงิน  7,490,000  บาท 

          เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2553   ,จ้างเหมาติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV)พร้อมอุปกรณ์ภายในสวนหลวง ร.9 วงเงิน 9,800,000 บาท เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2553  และจ้างเหมาอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว(การปรับภูมิทัศน์เมืองบริเวณรอบอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสิน)กิจกรรมติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV)  วงเงิน 23,359,500  บาท เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2553

          กลุ่มกิจการค้าร่วมยูเทล ซีคอม ได้รับจ้างจัดหาพร้อมติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด(CCTV) บริเวณสถานศึกษาในพื้นที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2554  วงเงิน  775,800,000 บาท   

           กิจการร่วมค้า จีเนียส  ได้รับว่าจ้างเหมาเชื่อมโยงสัญญาณภาพจากกล้องโทรทัศน์วงจรปิด(CCTV)ไปที่สถานีตำรวจในพื้นที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2554 วงเงิน  402,050,000

            บริษัทไทยซีคอมพิทักษ์กิจ จำกัด ได้รับว่าจ้างเหมาจัดหาพร้อมติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) บริเวณโรงพยาบาลศูนย์บริการสาธารณสุขและสถานที่ราชการในพื้นที่กรุงเทพฯ วันที่  15 มี.ค. 2554

            กิจการค้าร่วม TNB  ได้รับว่าจ้างเหมาติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV)พร้อมอุปกรณ์การทำงานในพื้นที่กรุงเทพฯ676 กล้อง เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2552  วงเงิน 94,000,000 บาท

            น่าสังเกตว่าระหว่าง วันที่ 16 ก.พ. 2554  -15  มี.ค. 2554  กทม.ว่าจ้างเอกชนรายใหญ่ติดตั้งกล้อง 4 ราย

            บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด  วันที่ 16 ก.พ.2554     

            กลุ่มกิจการค้าร่วมยูเทล ซีคอม  วันที่ 22 ก.พ. 2554

            กิจการร่วมค้า จีเนียส  วันที่ 22 ก.พ. 2554

            บริษัทไทยซีคอมพิทักษ์กิจ จำกัด  วันที่ 15 มี.ค. 2554

            รวมวงเงินที่กทม.ทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างในช่วงนี้ 1,836,484,996 บาท

           ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าระบุว่า บริษัท ไทยซีคอมพิทักษ์กิจ จำกัด จดทะเบียนวันที่ 9 กันยายน 2530 ทุน  378.8 ล้านบาท  บริษัท ซีคอม จำกัด และ กลุ่มสหพัฒน์ถือหุ้นใหญ่  นายสุกษม ช่วงโชติ เป็นกรรมการ

            บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด จดทะเบียนวันที่  13 กันยายน 2542  ทุน 50 ล้านบาท ที่ตั้งเลขที่ 469 ซอยประวิทย์และเพื่อน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ  บริษัท เจแอนด์ แอสโซซิเอทส์ จำกัด ถือหุ้น(นายสุชาติ อารีกุล ถือหุ้นใหญ่)    

            บริษัท จีเนียส ทราฟฟิค ซีสเต็ม จำกัด  จดทะเบียนวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2545 ที่ตั้งเลขที่  77 หมู่ที่ 11 ถนนพุทธมณฑลสาย 5 ตำบลไร่ขิง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม  บมจ.ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น  ถือหุ้นใหญ่   น่าสนใจก็คือหากพลิกรายชื่อผู้บริจาคเงินพรรคประชาธิปัตย์ในช่วงที่ผ่านมา มีกลุ่มสหพัฒน์รวมอยู่ด้วย  

 

      การจัดซื้อกล้อง  CCTV ของกรุงเทพมหานคร ระหว่างปีงบฯ 2553-มี.ค.2554


 รวบรวมโดย สำนักข่าวอิศรา

http://www.isranews.org/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น