วันจันทร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2554

เลือกตั้งเดนมาร์ก 2554: มุมมองของผู้มาเยือน

 

เลือกตั้งเดนมาร์ก 2554: มุมมองของผู้มาเยือน

วันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2554 เวลา 20:30:00 น.

Share29




โดย จิรัฐสรรพ์ ประมวลศิลป์ 

(หมายเหตุ ผู้เขียนนักศึกษาชั้นปีที่ 3 โครงการเศรษฐศาสตร์บัณฑิตภาคภาษาอังกฤษ (BE) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันกำลังศึกษาต่อในฐานะนักศึกษาแลกเปลี่ยน ณ Copenhagen Business School ประเทศเดนมาร์ก)
 

เดนมาร์กเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อว่ามีความเป็นประชาธิปไตยมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ประชาชนตื่นตัวต่อการเมืองและใช้สิทธิ์เลือกตั้งในระดับสูงมาก มี "รัฐสวัสดิการ" ที่ประสบความสำเร็จและกลายเป็นต้นแบบของหลายประเทศ ทั้งยังเป็นรัฐราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับประเทศไทย แต่ในขณะเดียวกัน เดนมาร์กเป็นประเทศแรกที่พรรคชาตินิยมได้รับความนิยมสูงมาก มีนโยบายผู้อพยพที่เข้มงวดที่สุดในยุโรป เป็นจุดเริ่มต้นกระแสพรรคชาตินิยมที่แพร่กระจายไปทั่วยุโรปในปัจจุบัน จนทำให้เกิดความกังวลว่ายุโรปจะทำลายคุณค่าประชาธิปไตยที่สะสมมานาน การเลือกตั้งเดนมาร์กซึ่งเกิดขึ้นในวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมาจึงน่าสนใจศึกษาอย่างยิ่ง


ระบบการเมืองเดนมาร์ก
 

เดนมาร์กปกครองด้วยระบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ มีประมุขของประเทศคือราชินี Margrethe II โดยใช้ระบบสภาเดียว มีชื่อว่า Folketinget และมีพรรคการเมืองหลายพรรคเป็นรัฐบาลผสม มีน้อยครั้งมากที่พรรคการเมืองพรรคเดียวมีเสียงส่วนใหญ่ในสภา การผ่านกฎหมายในสภาจึงต้องเกิดจากการเจรจาต่อรองระหว่างพรรคการเมืองทั้งพรรคร่วมรัฐบาล พรรคสนับสนุนรัฐบาลและฝ่ายค้าน ก่อนการเลือกตั้งครั้งนี้ เดนมาร์กมีนายกรัฐมนตรีชื่อ Lars Løkke Rasmussen จากพรรคเสรีนิยม (Venstre)


ราชินี Margrethe II ของเดนมาร์ก (ที่มาhttp://en.wikipedia.org/wiki/File:Queen_Magrethe_sep_7_2005.png)


สภา Folketinget นี้มีวาระสี่ปี มีผู้แทนจำนวน 179 คน โดย 175 คนมาจากเดนมาร์ก โดยอีก 4 คนนั้นมาจากหมู่เกาะแฟโรและกรีนแลนด์แห่งละ 2 คน โดยพรรครัฐบาลจะต้องรวบรวมเสียงสนับสนุนให้ได้มากกว่า 90 เสียง จึงถือว่ามีเสียงข้างมาก (หรือหากไม่สามารถรวบรวมเสียงสนับสนุนได้ถึง 90 เสียง ดังเช่นในการเลือกตั้งครั้งนี้ ก็ต้องมั่นใจว่าจะไม่มีเสียงข้างมากคัดค้าน) ส่วนมากรัฐบาลผสมของเดนมาร์กจะเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย กล่าวคือมีจำนวนผู้แทนไม่ถึง 90 คน และต้องพึ่งพาเสียงของพรรคสนับสนุนรัฐบาลในการผ่านกฎหมายต่างๆ ดังนั้นการเจรจาและการประนีประนอมเพื่อหาข้อยุติร่วมกัน (Consensus) จึงเป็นประเพณีทางการเมืองของเดนมาร์ก


(Pic 2) พระราชวัง Christiansborg ที่ตั้งของสภา Folketinget


นายกรัฐมนตรีของเดนมาร์กมาจากการแต่งตั้งโดยราชินีโดยธรรมเนียม เมื่อการเลือกตั้งเสร็จสิ้นและรัฐบาลเดิมไม่มีเสียงข้างมาก การจัดตั้งรัฐบาลใหม่จะเริ่มขึ้นโดยขั้นตอนที่เรียกว่า dronningerunde (Queen's round) ซึ่งราชินีจะทำการเลือกผู้เจรจาหนึ่งคน เรียกว่า kongelig undersøger (Royal negotiator) โดยบุคคลนี้คือบุคคลที่ราชินีคาดว่าสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ผู้เจรจาคนนี้จะเสนอรายชื่อคณะรัฐมนตรี หากเสียงส่วนมากในสภาไม่คัดค้าน รัฐบาลใหม่ก็จะถูกจัดตั้งขึ้นโดยตัวผู้เจรจามักจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนถัดไป แต่หากเสียงส่วนมากคัดค้าน กระบวนการ dronningerunde จะเริ่มขึ้นอีกครั้ง โดยในปี 2531 กระบวนการนี้ต้องดำเนินไปถึง 4 รอบ จึงสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ พรรคการเมืองที่มีรัฐมนตรีถือเป็นพรรครัฐบาล (Government party) พรรคการเมืองที่สนับสนุนรัฐบาลแต่ไม่มีรัฐมนตรีถือเป็นพรรคสนับสนุนรัฐบาล (Supporting party) ส่วนพรรคที่เหลือคือพรรคฝ่ายค้าน (Opponent party)


การเลือกตั้งเดนมาร์ก
 

ตามรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งจะต้องเกิดขึ้นภายใน 4 ปี นับจากการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้จะต้องเกิดขึ้นภายในวันที่ 12 พฤศจิกายน โดยนายกรัฐมนตรีสามารถประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่เมื่อไหร่ก็ได้ และการเลือกตั้งจะต้องเกิดขึ้นภายใน 21 วันหลังจากการประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งก็เป็นไปตามกำหนดพอดี เนื่องจากนายกรัฐมนตรีได้ประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่เมื่อวันที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมา
 

เดนมาร์กมีพรรคการเมืองหลายพรรค โดยพรรคการเมืองจะสัญญากับผู้เลือกตั้งไว้ว่าจะจัดตั้งหรือสนับสนุนกลุ่มพันธมิตรทางการเมือง (Coalition) ใดเป็นรัฐบาล แต่พรรคการเมืองนั้นอาจเป็นพรรครัฐบาล หรือเป็นพรรคสนับสนุนรัฐบาลก็ได้ โดยพันธมิตรทางการเมืองในการเลือกตั้งครั้งนี้มีสองกลุ่ม เรียกกันว่าพันธมิตรสีแดง (Red Coalition) และพันธมิตรสีน้ำเงิน (Blue Coalition) ซึ่งจะกล่าวในภายหลัง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งก็สามารถตัดสินใจสนับสนุนพรรคใดก็ได้ในพันธมิตรที่ตนสนับสนุน เพราะสุดท้ายก็จะได้นายกรัฐมนตรีคนเดียวกัน แต่ความแตกต่างคือรายละเอียดในแต่ละนโยบาย
 

การจัดตั้งรัฐบาลจำเป็นต้องมีเสียงข้างมากของสภาสนับสนุน (หรือไม่มีเสียงข้างมากคัดค้าน เช่นในการเลือกตั้งครั้งนี้) โดยพรรครัฐบาลหลักซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีสังกัดอาจมีเสียงไม่เป็นอันดับหนึ่งของสภาก็ได้ ขอเพียงมีพรรคการเมืองมาสนับสนุนจนเป็นเสียงข้างมากก็พอ นอกจากนี้ รัฐบาลส่วนใหญ่จะเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย (Minority government) คือผู้แทนจากพรรครัฐบาลรวมกันมีจำนวนไม่ถึงครึ่ง แต่อยู่ได้เพราะเสียงจากพรรคสนับสนุนรัฐบาล ซึ่งอาจไม่สนับสนุนกฎหมายหากมีความขัดแย้งกับพรรครัฐบาล
 

ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรในเดนมาร์ก ต้องเป็นพลเมืองเดนมาร์ก มีอายุ 18 ปีขึ้นไป โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งใช้สิทธิโดยการนำจดหมายแจ้งการใช้สิทธิที่ส่งมาที่บ้าน ไปใช้สิทธิที่หน่วยเลือกตั้งซึ่งมักเป็นโรงเรียน (เพราะมีห้องขนาดใหญ่) โดยควรเตรียมบัตรประจำตัวที่มีรูปภาพไปด้วย เช่น ใบขับขี่ หรือหนังสือเดินทาง (ประชาชนเดนมาร์กไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน แต่มีบัตรประกันสุขภาพเป็นเสมือนบัตรประชาชน โดยบัตรนี้ไม่มีรูปภาพ) เพราะเจ้าหน้าที่อาจขอตรวจหากสงสัย เมื่อมาถึงแล้ว เจ้าหน้าที่จะขีดฆ่าชื่อของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในบัญชีรายชื่อที่หน่วยเลือกตั้ง แล้วให้บัตรเลือกตั้งผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปใช้สิทธิในคูหา โดยหน่วยเลือกตั้งจะเปิดให้ใช้สิทธิตั้งแต่เวลา 9.00-20.00 น. เป็นเวลารวม 11 ชั่วโมง ด้วยเหตุผลว่าประชาชนทั่วไปจะทำงานวันละ 8 ชั่วโมง การมีเวลาเลือกตั้ง 11 ชั่วโมง ทำให้ประชาชนมีเวลาอย่างน้อย 3 ชั่วโมงในการใช้สิทธิ
 

ในบัตรเลือกตั้งจะมีสองส่วน คือเลือกตั้งพรรค และเลือกตั้งผู้สมัคร โดยสามารถเลือกลงคะแนนให้พรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว หรือผู้สมัครเพียงคนเดียวเท่านั้น โดยทำเครื่องหมายกากบาทด้วยดินสอ ในบัตรเลือกตั้งจะมีสัญลักษณ์พรรคซึ่งมีการตกลงไว้ล่วงหน้า หากพรรคการเมืองไม่ขอเปลี่ยนสัญลักษณ์ ก็จะใช้สัญลักษณ์เดิมไปตลอด (เช่น A สำหรับพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย หรือ V สำหรับพรรคเสรีนิยม) และชื่อพรรคการเมืองอยู่ หากผู้มีสิทธิเลือกตั้งเลือกพรรค คะแนนจะถูกนำไปคัดเลือกผู้สมัครตามลำดับบัญชีรายชื่อ หรือจัดสรรตามจำนวนคะแนนเลือกตั้งส่วนตัวผู้สมัคร (จากการเลือกผู้สมัครรายบุคคล) ตามแต่พรรคการเมืองได้แจ้งความจำนงไว้ หากผู้มีสิทธิเลือกตั้งเจาะจงเลือกผู้สมัคร คะแนนนี้จะเป็นของผู้สมัครโดยตรง แต่หากผู้มีสิทธิเลือกตั้งเลือกทั้งคนทั้งพรรค จะกลายเป็นบัตรเสียเพราะการเลือกตั้งอนุญาตให้เลือกได้เพียงครั้งเดียว เมื่อทำเครื่องหมายเสร็จก็นำบัตรหย่อนใส่หีบ และคะแนนจะถูกนับด้วยมือเช่นเดียวกับในประเทศไทย โดยพรรคการเมืองจะต้องมีเสียงมากกว่าร้อยละ 2 ของคะแนนเสียงทั้งหมดจึงสามารถมีผู้แทนในสภา


วันเลือกตั้ง (ที่มา http://www.cphpost.dk/news/politics/90-politics/52062-election-11--how-does-it-work.html)


พรรคการเมืองในเดนมาร์ก
 

พรรคการเมืองแบ่งเป็นสองขั้ว คือพันธมิตรสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นฝ่ายรัฐบาลในสมัยที่ผ่านมา และพ่ายแพ้การเลือกตั้งครั้งนี้ มีแนวคิดไปทางเสรีนิยม และพันธมิตรสีแดง ซึ่งเป็นฝ่ายค้านในสมัยที่ผ่านมา และชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ มีแนวคิดไปทางสังคมนิยม ตัวอักษรหลังชื่อพรรคในวงเล็บคือสัญลักษณ์พรรค 
 

ในเดนมาร์ก กลุ่มพันธมิตรทั้งสองจะมีเสียงไม่ต่างกันมากนัก และเป็นระบบหลายพรรค การชนะการเลือกตั้งแบบถล่มทลายจะไม่เกิดขึ้นในระบบการเมืองเดนมาร์ก


ป้ายหาเสียงของ Helle Thorning-Schmidt จากพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย (ซ้าย) และป้ายหาเสียงของ Lars Løkke Rasmussen จากพรรคเสรีนิยม (ขวา)


พันธมิตรสีน้ำเงิน (Blue Coalition): จำนวนผู้แทนสมัยก่อนหน้า 94 คน จำนวนผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้ง  86 คน


ในรัฐบาลสมัยที่แล้ว มีพรรครัฐบาลสองพรรคคือ พรรคเสรีนิยม (Venstre) และพรรคอนุรักษ์นิยม (Det Konservative Folkeparti) ส่วนพรรคที่เหลือเป็นพรรคสนับสนุนรัฐบาล แต่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ พันธมิตรสีน้ำเงินต้องกลายเป็นฝ่ายค้านแทน พันธมิตรสีน้ำเงินจะมีแนวคิดสนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม รวมถึงมีแนวคิดด้านสังคมที่ค่อนข้างขวา ผู้สนับสนุนส่วนใหญ่มักเป็นผู้ที่ค่อนข้างมีฐานะ ชนชั้นกลาง หากเปรียบเทียบกับพันธมิตรสีแดงที่ผู้สนับสนุนมักเป็นแรงงาน


พรรคเสรีนิยม (Venstre - V): จำนวนผู้แทนสมัยก่อนหน้า 46 คน จำนวนผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้ง 47 คน


เป็นพรรครัฐบาลในสมัยที่แล้ว คำว่า Venstre ในภาษาเดนิชแปลตรงตัวว่า "ซ้าย" แต่ความเป็นจริงพรรคนี้เป็นพรรคกลางขวา เนื่องจาก เมื่อประมาณร้อยปีก่อน พรรคนี้ถือว่าอยู่ทางซ้ายเมื่อแข่งขันกับพรรคอนุรักษ์นิยม ดังนั้น "ซ้าย" ในนิยามของเดนมาร์กจึงหมายถึงเสรีนิยม พรรคนี้มีแนวคิดเป็นเสรีนิยมในทางเศรษฐกิจ มีนโยบายคงภาษีไว้เช่นเดิมหรือลดภาษี พยายามสร้างวินัยทางการคลังและเพิ่มประสิทธิภาพในระบบเศรษฐกิจผ่านการตัดงบประมาณและสวัสดิการ ซึ่งเป็นนโยบายที่ถูกบางฝ่ายมองว่ามุ่งทำลายรัฐสวัสดิการ และเอื้อประโยชน์แก่คนรวย (ทั้งนี้ เดนมาร์กเป็นประเทศที่ภาษีสูงที่สุดในกลุ่ม OECD และมีขนาดเศรษฐกิจภาครัฐใหญ่เป็นอันดับต้นๆของโลก) นอกจากนี้ยังออกกฎหมายผู้อพยพที่เข้มงวดมาก รวมถึงการวางแผนตั้งด่านตรวจคนเข้าเมืองที่ชายแดน (ซึ่งผิดสนธิสัญญาเชงเก้น แต่รัฐบาลเลี่ยงบาลีไปใช้คำว่าด่านศุลกากร ซึ่งก็ฟังไม่ขึ้นเพราะศุลกากรเดนมาร์กไม่เข้มงวดมากนักในการตรวจสิ่งของ ทั้งยังมีภาษีสุราที่ค่อนข้างต่ำ) โดยพรรคนี้เข้าสู่อำนาจตั้งแต่ปี 2544 โดยชนะการเลือกตั้งอีกสองครั้งในปี 2548 และ 2550


พรรคเสรีนิยมถูกโจมตีอย่างมากว่าทำให้เดนมาร์กมีความเหลื่อมล้ำสูงขึ้น แม้นับว่ายังน้อย หากเปรียบเทียบกับไทยหรือสหรัฐอเมริกา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นขัดกับคุณค่าในเรื่องความเท่าเทียมที่คนสแกนดิเนเวียยึดถือ นอกจากนี้ปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบันก็เป็นอีกจุดอ่อนหนึ่งของพรรค เพราะในปัจจุบัน เดนมาร์กขาดดุลงบประมาณ 121,000 ล้านโครนเดนมาร์ก (ประมาณ 600,000 ล้านบาท) จากปี 2549 ที่เดนมาร์กยังเกินดุลงบประมาณ (แต่เศรษฐกิจภาพรวมยังถือว่าค่อนข้างแข็งแกร่ง หากเทียบกับเศรษฐกิจยุโรปอื่นๆ) โดยถูกกล่าวหาว่าลดภาษีเพื่อช่วยคนรวย และนำเงินไปอุ้มธนาคารที่มีปัญหามากเกินไป ทั้งยังถูกโจมตีเรื่องการพึ่งพิงพรรคคนเดนมาร์ก ซึ่งเป็นพรรคขวาจัด ในการผ่านกฎหมายต่างๆ มากเกินไป


แม้ในการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคเสรีนิยมจะได้ผู้แทนเพิ่มขึ้น 1 คน และเป็นพรรคที่มีจำนวนผู้แทนมากที่สุดต่ออีกสมัย แต่พรรคเสรีนิยมต้องกลายเป็นฝ่ายค้าน เพราะมีเสียงสนับสนุนจากพรรคในพันธมิตรสีน้ำเงินน้อยกว่าพรรคพันธมิตรสีแดง หัวหน้าพรรคคนปัจจุบันชื่อ Lars Løkke Rasmussen ซึ่งรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจาก Anders Fogh Rasmussen หัวหน้าพรรคคนก่อนที่ไปรับตำแหน่งเลขาธิการนาโตในปี 2009 โดยไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ทำให้มีคนบางกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากประชาธิปไตย และมีภาพลักษณ์ผู้นำที่ไม่แข็งแกร่งหากเทียบกับคู่แข่งจากพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย และยังมีคะแนนความนิยมตามโพลต่ำกว่าพรรคสังคมนิยมมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2553


ป้ายหาเสียงของผู้สมัครรายหนึ่งจากพรรคเสรีนิยม


พรรคอนุรักษ์นิยม (Det Konservative Folkeparti - C): จำนวนผู้แทนสมัยก่อนหน้า 18 คน จำนวนผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้ง 8 คน


เป็นพรรคร่วมรัฐบาลในสมัยที่แล้ว มีแนวคิดอนุรักษ์นิยม สนับสนุนธุรกิจ ลดภาษี ถูกมองว่าเป็นพรรคของคนรวยมาช้านาน มีความพยายามเป็นพรรคที่เชื่อมพันธมิตรทางการเมืองทั้งสอง โดยมีความพยายามร่วมมือกับพรรคสังคม-เสรีนิยม ซึ่งเป็นพรรคพันธมิตรสีน้ำเงิน ทำให้มีปัญหาด้านจุดยืนพอสมควร หัวหน้าพรรคชื่อ Lars Barfoed รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในสมัยที่แล้ว

 

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคอนุรักษ์นิยมแพ้การเลือกตั้งอย่างมาก ซึ่งสาเหตุอาจมาจากจุดยืนด้านเศรษฐกิจที่ไม่ชัดเจน และปัญหาการบริหารงานภายใน ทำให้ผู้สนับสนุนบางส่วนไปลงคะแนนให้พรรคพันธมิตรเสรีนิยมที่มีจุดยืนด้านเศรษฐกิจที่เสรีมากกว่าแทน


ป้ายหาเสียงของผู้สมัครรายหนึ่งจากพรรคอนุรักษ์นิยม


พรรคคนเดนมาร์ก (Dansk Folkeparti – O): จำนวนผู้แทนสมัยก่อนหน้า 25 คน จำนวนผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้ง 22 คน


พรรคนี้น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นพรรคที่มีอุดมการณ์ชาตินิยม ขวาจัด ต่อต้านชาวต่างชาติ สนับสนุนนโยบายผู้อพยพที่เข้มงวดมาก แต่ในขณะเดียวก็มีอุดมการณ์ด้านเศรษฐกิจไปทางซ้าย สนับสนุนรัฐสวัสดิการและเป็นพรรคประชานิยม คือ สนับสนุนอะไรก็ได้ แต่มีจุดยืนหลักในเรื่องผู้อพยพที่เข้มงวดและรุนแรงมาก พรรคนี้เคยเป็นพรรคสนับสนุนรัฐบาลในรัฐบาลที่แล้ว โดยได้คะแนนเสียงเพิ่มขึ้นในการเลือกตั้งทุกครั้งตั้งแต่ปี 2541 จนถึงปี 2550 และเป็นพรรคที่เริ่มต้นกระแสขวาจัดในยุโรปในปัจจุบัน แม้ไม่ใช่พรรครัฐบาลในสมัยที่แล้ว แต่พรรคนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในการผ่านกฎหมายต่างๆ พูดได้ว่านโยบายผู้อพยพของรัฐบาลเสรีนิยมที่เข้มงวดมาก ล้วนมากจากการผลักดันของพรรคนี้ เพื่อแลกกับการสนับสนุนพรรคเสรีนิยมในประเด็นอื่น เช่น ด้านเศรษฐกิจ ทั้งพรรคนี้ยังทำให้การเมืองเดนมาร์กเป็นฝักฝ่าย บั่นทอนภาพลักษณ์ของการเมืองแบบประนีประนอม เพราะพรรคในพันธมิตรสีแดงไม่สนับสนุนพรรคนี้ และไม่ยอมผ่านกฎหมายต่างๆ ของพรรคเสรีนิยม ทำให้กฎหมายต่างๆผ่านด้วยเสียงที่เกินครึ่งเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ภาพลักษณ์ของพรรคนี้ในหมู่นักศึกษาเดนมาร์กที่ผู้เขียนได้สัมผัสค่อนข้างแย่ เพราะเป็นพรรคขวาจัดที่มีมุมมองต่อคนต่างชาติค่อนข้างคร่ำครึ ส่งออกกระแสขวาจัดที่คนทั่วไปไม่ยอมรับ และอาจมีส่วนในการทำให้พันธมิตรสีน้ำเงินแพ้การเลือกตั้งครั้งนี้ โดยการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคนี้มีผู้แทนลดลงเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ แต่ก็ยังนับว่าสูงมากกว่าที่โพลต่างๆคาดการณ์ไว้ และยังรักษาฐานเสียงไว้ได้ดี เป็นพรรคที่มีผู้แทนมากเป็นอันดับสามเช่นเดิม ซึ่งมีผู้ให้ความเห็นว่าอาจมาจากการที่ผู้สนับสนุนพรรคนี้ไม่กล้าบอกโพลเพราะอายที่จะประกาศตัวเป็นผู้สนับสนุนพรรคขวาจัด ฐานเสียงส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ เพราะพรรคนี้สนับสนุนการเพิ่มเงินบำนาญ หัวหน้าพรรคชื่อ Pia Kjærsgaard


ป้ายหาเสียงของผู้สมัครรายหนึ่งจากพรรคคนเดนมาร์ก


พรรคพันธมิตรเสรีนิยม (Liberal Alliance – I): จำนวนผู้แทนสมัยก่อนหน้า 5 คน จำนวนผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้ง 9 คน


พรรคนี้ตั้งขึ้นในปี 2550 โดยผู้แทนจากพรรคสังคม-เสรีนิยม และพรรคอนุรักษ์นิยม สนับสนุนอุดมการณ์เสรีนิยมทางเศรษฐกิจ โดยข้อเสนอหลักคือลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลงมาที่ร้อยละ 40 (ปัจจุบันภาษีขั้นสูงอยู่ที่ร้อยละ 63 เทียบกับประเทศไทยที่ร้อยละ 37) หัวหน้าพรรคชื่อ Anders Samuelsen พรรคนี้ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยได้คะแนนเสียงเพิ่มจากผู้สนับสนุนพรรคอนุรักษ์นิยมบางส่วน


ป้ายหาเสียงของผู้สมัครรายหนึ่งจากพรรคอนุรักษ์นิยม


พันธมิตรสีแดง (Red Coalition): จำนวนผู้แทนสมัยก่อนหน้า 81 คน จำนวนผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้ง 89 คน


เป็นพันธมิตรพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ มีพรรคจำนวน 4 พรรค โดยพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย (Socialdemokraterne) และพรรคคนสังคมนิยม (Socialistisk Folkeparti) วางแผนเป็นพรรครัฐบาลร่วมกัน มีการดำเนินการหาเสียง แถลงนโยบายร่วมกันมาโดยตลอด และประกาศไม่แย่งฐานเสียงกันเองโดยเปิดเผย ส่วนพรรคสังคม-เสรีนิยม (Radikale Venstre) ที่อยู่ขวาสุด ที่วางแผนว่าอาจเข้าร่วมรัฐบาลหรือเป็นเพียงพรรคสนับสนุน วันนี้มีโอกาสเป็นพรรคร่วมรัฐบาลมากกว่าเพราะมีผู้แทนได้รับการเลือกตั้งค่อนข้างมาก และพรรคเอกภาพ (Enhedslisten) ที่อยู่ซ้ายสุดเป็นพรรคสนับสนุนรัฐบาล พันธมิตรสีแดงนี้จะมีอุดมการณ์สังคมนิยม เน้นการเพิ่มสวัสดิการสังคมต่างๆ และการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ซึ่งเป็นคุณค่าหลักของสังคมสแกนดิเนเวีย โดยมีผู้สนับสนุนส่วนใหญ่เป็นชนชั้นแรงงาน และแรงงานซึ่งเป็นชนชั้นกลาง รวมถึงนักศึกษาส่วนใหญ่ที่ต้องการสังคมที่เท่าเทียม (ทั้งนี้ ยกเว้นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยที่ผู้เขียนศึกษาอยู่ ซึ่งเป็นโรงเรียนธุรกิจ ทำให้นักศึกษาโน้มเอียงไปทางพันธมิตรสีน้ำเงินมากกว่า)


พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย (Socialdemokraterne -A): จำนวนผู้แทนสมัยก่อนหน้า 45 คน จำนวนผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้ง 44 คน


พรรคนี้เป็นพรรคสังคมนิยมตามแบบยุโรป สนับสนุนสวัสดิการสังคม ผู้ใช้แรงงาน ผู้ด้อยโอกาส แต่ก็ได้ย้ายตัวเองเข้ามาใกล้ตรงกลางมากขึ้น หลังกระแสเสรีนิยมตั้งแต่ 10 ปีก่อน ตามพรรคแรงงานของอังกฤษ และพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยของเยอรมนี พรรคนี้เป็นเคยพรรคขนาดใหญ่ที่สุดมาเป็นเวลาประมาณ 70 ปี จนถึงปี 2544 ได้กลายเป็นพรรคฝ่ายค้านที่ใหญ่ที่สุด และมีคะแนนเสียงที่ใกล้เคียงกับพรรคเสรีนิยมอย่างมากในการเลือกตั้งครั้งก่อน มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการเพิ่มเวลาทำงานวันละ 12 นาที การเพิ่มการจ้างงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มรายได้ภาษี และการกู้เงินเพิ่มเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งยังเป็นแผนที่ไม่ชัดเจนและเป็นที่สงสัยว่าจะทำได้สำเร็จหรือไม่ มีนโยบายผู้อพยพที่ไม่อ่อน แต่ไม่แข็งกร้าว เพราะจะคงนโยบายของพรรคเสรีนิยมบางอย่างไว้ เช่น กฎ 24 ปี ที่เกือบจะไม่อนุญาตให้คู่แต่งงานอพยพเข้าเดนมาร์ก หากคู่บ่าวสาวคนใดคนหนึ่งอายุไม่ถึง 24 ปี ซึ่งเป็นประเด็นที่พรรคนี้มีความขัดแย้งกับพรรคคนสังคมนิยม


ผลการเลือกตั้งที่ออกมา พรรคนี้ได้จำนวนผู้แทนลดลงหนึ่งคน แต่หัวหน้าพรรค Helle Thorning-Schmidt จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของเดนมาร์ก เพราะได้เสียงสนับสนุนจากพรรคพันธมิตรมากกว่ากลุ่มพันธมิตรสีน้ำเงิน ซึ่งสาเหตุที่พรรคนี้ได้บริหารประเทศมาจากปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบันที่เกิดขึ้นภายหลังการบริหารงาน 10 ปีของพรรคเสรีนิยม กระแสต่อต้านพรรคคนเดนมาร์กซึ่งสนับสนุนพรรคเสรีนิยม และภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำของ Helle Thorning-Schmidt ที่เข้มแข็งกว่า Lars Løkke Rasmussen


ป้ายหาเสียงของ Helle Thorning-Schmidt จากพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย แปลได้ว่า เราต้องลงทุนในเยาวชน ไม่ใช่ตัดงบประมาณการศึกษา


พรรคคนสังคมนิยม (Socialistisk Folkeparti -F): จำนวนผู้แทนสมัยก่อนหน้า 23 คน จำนวนผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้ง 16 คน


เป็นพรรคที่มีอุดมการณ์สังคมนิยมและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยถูกมองว่าซ้ายกว่าพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย โดยการเลือกตั้งในปี 2550 มีคะแนนเสียงเพิ่มขึ้นถึงเท่าตัวจากการเลือกตั้งครั้งก่อนหน้า กลายเป็นพรรคอันดับสี่ พรรคนี้มีจุดเด่นด้านนโยบายสวัสดิการสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ซ้ายกว่าพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยซึ่งถูกมองว่าอยู่ตรงกลางมากเกินไป (รวมถึงตัว Helle Thorning-Schmidt เอง ที่ถูกมองว่าค่อนข้างโน้มเอียงไปตรงกลางเมื่อเทียบกับกลุ่มการเมืองอื่นภายในพรรค) แต่จุดอ่อนคือความกังวลว่าพรรคนี้จะพยายามขึ้นภาษีและนโยบายเศรษฐกิจ หัวหน้าพรรคคนปัจจุบันชื่อ Villy Søvndal และพรรคนี้ไม่เคยอยู่ในรัฐบาลมาก่อน


แต่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคคนสังคมนิยมมีจำนวนผู้แทนลดลงค่อนข้างมาก จนน้อยกว่าพรรคสังคม-เสรีนิยม ซึ่งสาเหตุน่าจะมาจากการสูญเสียความโดดเด่นเพราะความร่วมมือที่ใกล้ชิดพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยมากเกินไป และการเปลี่ยนท่าทีให้ประนีประนอมมากขึ้น ทำให้ถูกมองว่าละทิ้งอุดมการณ์ซ้ายของตนเอง จนทำให้ผู้สนับสนุนบางส่วนย้ายไปลงคะแนนเสียงให้กับพรรคเอกภาพที่อยู่ซ้ายสุดแทน


การแถลงข่าวร่วมกันของ Helle Thorning-Schmidt  จากพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย และ Villy Søvndal จากพรรคคนสังคมนิยม (ที่มา http://www.cphpost.dk/news/politics/90-politics/52108-despite-divisions-opposition-remains-poised-for-power.html)


ป้ายหาเสียงของผู้สมัครรายหนึ่งจากพรรคคนสังคมนิยม (บน) และจากพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย (ล่าง)


ป้ายหาเสียงของ Villy Søvndal หัวหน้าพรรคคนสังคมนิยม


พรรคสังคม-เสรีนิยม (Det Radikale Venstre - B): จำนวนผู้แทนสมัยก่อนหน้า 9 คน จำนวนผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้ง 17 คน


ชื่อพรรคนี้ แปลตรงตัวตามภาษาเดนิชว่าพรรค "ซ้ายสุดขั้ว" แต่ความเป็นจริงพรรคนี้คือพรรคสังคม-เสรีนิยม (Social Liberal) ที่มีอุดมการณ์ใกล้เคียงกับพรรคเสรีประชาธิปไตยของอังกฤษ (Liberal Democrats) และพรรคเดโมแครตของสหรัฐอเมริกา เพราะเป็นพรรคเสรีนิยมที่อยู่ทางซ้ายกว่าพรรคเสรีนิยม (Venstre) พรรคนี้มีอุดมการณ์เศรษฐกิจที่ขวาที่สุดในพันธมิตรสีแดงเพราะสนับสนุนเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม แต่ยังใส่ใจประเด็นด้านสวัสดิการมากกว่าพรรคเสรีนิยม โดยพรรคนี้เป็นพรรครัฐบาลและพรรคสนับสนุนรัฐบาลหลายครั้ง และวางตัวเองอยู่ตรงกลาง หรือกลางซ้าย เข้าร่วมกับรัฐบาลได้ทั้งขวาและซ้าย แต่มีนโยบายผู้อพยพที่ต่างกับพรรคเสรีนิยมอย่างมาก เพราะต้องการยกเลิกกฎ 24 ปี และมีจุดยืนที่ซ้ายที่สุดในเรื่องผู้อพยพ ซึ่งเป็นจุดแข็งอย่างมากของพรรคนี้ เพราะกลายเป็นตัวเลือกของผู้สนับสนุนเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม แต่ต่อต้านพรรคคนเดนมาร์กที่มีแนวคิดขวาจัด (หากสนับสนุนพรรคเสรีนิยม ก็เท่ากับสนับสนุนการมีอยู่ของพรรคขวาจัดในรัฐบาล) แต่จุดอ่อนคือความสัมพันธ์ที่ไม่ดีนักกับพรรคคนสังคมนิยม หัวหน้าพรรคคือ Margrethe Vestager


Margrethe Vestager หัวหน้าพรรคสังคม-เสรีนิยม (ซ้าย) และ Pia Kjærsgaard หัวหน้าพรรคคนเดนมาร์ก ในรายการโทรทัศน์ "เกมเศรษฐี" (ที่มาhttp://multimedia.pol.dk/archive/00575/Margrethe_Vestager__575351y.jpg)


โดยในการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคสังคม-เสรีนิยมประสบความสำเร็จอย่างสูง เพราะได้ผู้แทนมากขึ้นเกือบ 2 เท่า กลายเป็นพรรคที่มีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ และมีโอกาสในการผลักดันนโยบายด้านผู้อพยพ การศึกษา และการเกษียณอายุก่อนกำหนดได้เป็นอย่างมาก นอกจากนี้ พรรคเสรีนิยมยังเคยเสนอจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคสังคม-เสรีนิยม แทนพรรคคนเดนมาร์กอีกด้วย ถือได้ว่าเสียงสนับสนุนของพรรคนี้เป็นทั้งเสียงของคนที่สนับสนุนสวัสดิการสังคม แต่ต้องการนโยบายเศรษฐกิจที่โน้มเอียงไปทางทุนนิยม และทั้งคนที่ไม่เห็นด้วยกับพรรคคนเดนมาร์ก


ป้ายหาเสียงของผู้สมัครรายหนึ่งจากพรรคสังคม-เสรีนิยม


พรรคเอกภาพ (Enhedslisten -Ø): จำนวนผู้แทนสมัยก่อนหน้า 4 คน จำนวนผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้ง 12 คน


พรรคนี้เป็นพรรคที่ซ้ายที่สุดในพันธมิตรสีแดง เกิดจากการรวมตัวของพรรคซ้ายจัดและพรรคคอมมิวนิสต์ในปี 1989 มีจุดเด่นด้านนโยบายสวัสดิการต่างๆที่ครอบคลุมยิ่งขึ้นมาก และมีจุดยืนต่อต้านทุนนิยมอย่างชัดเจน ส่วนนโยบายผู้อพยพก็เสรีที่สุดเช่นกัน โดยอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับพรรคสังคม-เสรีนิยม พรรคนี้ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมากในหมู่เยาวชนที่ต้องการเห็นโลกที่งดงาม โดยได้จำนวนผู้แทนเพิ่มขึ้นถึงสามเท่าจากการเลือกตั้งครั้งก่อน และเป็นพรรคหนึ่งที่มีความสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่โดย Helle Thorning-Schmidt พรรคนี้ไม่มีหัวหน้าพรรค เพราะมีคณะกรรมการชี้นำพรรคร่วมกัน แต่มีโฆษกพรรคชื่อ Johanne Schmidt-Nielsen ซึ่งได้เป็นผู้แทนครั้งแรกในการเลือกตั้งเมื่อ 4 ปีก่อน ขณะที่เธอมีอายุเพียง 23 ปี และยังได้คะแนนเลือกตั้งส่วนตัวมากกว่า Helle Thorning-Schmidt ในเขตเลือกตั้งกรุงโคเปนเฮเกน


Johanne Schmidt-Nielsen โฆษกพรรคเอกภาพ (ที่มาhttp://multimedia.pol.dk/archive/00577/Enhedslisten_holder_577173a.jpg)


ยังไม่จบ คลิกอ่านต่อที่นี่ 



 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1316869102&grpid&catid=02&subcatid=0207

วันเสาร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2554

ชำแหละงบฯซื้อกล้อง CCTV กทม.บิ๊กลอต 2,400 ล้าน ข้อมูลที่ “สุขุมพันธ์”บอกไม่หมด

 

ชำแหละงบฯซื้อกล้อง CCTV กทม.บิ๊กลอต 2,400 ล้าน ข้อมูลที่ "สุขุมพันธ์"บอกไม่หมด

วันศุกร์ที่ 23 กันยายน 2011 เวลา 10:24 น. เขียนโดย isranews หมวด เรื่องเด่นisranews

          ผ่าละเอียดงบฯติดตั้งกล้องกล้องฉาว CCTV ของกรุงเทพมหานครจากอดีต-ปัจจุบัน ตะลึง! 3  ปีหมดเงินเกือบ 2.4 พันล้าน เพิ่งทำสัญญาจัดซื้อลอตใหญ่ ก.พ.-มี.ค. 2554  กว่า 1,800 ล้าน ตกอยู่ในอุ้งมือรายใหญ่ 4 ราย ที่ผู้ว่าฯกทม.ยังไม่บอก

          เรื่องอื้อฉาวกรณีกรุงเทพมหานครติดตั้งกล้องวงจรปิดเปล่าหรือกล้องดัมมี่ 500 จุดโดยระบุว่าเพื่อเป็นกลยุทธ์ลวงมิให้มีการกระทำผิดกฎหมายในช่วงเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง และยืนยันว่าไม่มีการทุจริตในการจัดซื้อกล้อง CCTV จำนวน 10,000 ตัวแต่อย่างใด

           เมื่อวันที่  21 กันยายน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ เขียนข้อความชี้แจงในเฟซบุ๊ก อธิบายถึงโครงการติดตั้งกล้องวงจรปิดหรือ CCTV  จำนวน 10,000 ตัว ทั่วกรุงเทพฯ ว่าไม่ใช่เป็นเรื่องการโกงกิน หรือการโกหกผลงาน แต่การที่ต้องติดตั้งกล่องเปล่าในบางจุดเพื่อความปลอดภัย และ กทม.กำลังดำเนินการติดกล้องเพิ่มตามนโยบาย แต่ยังมีกล่องเปล่าอยู่ประมาณ 500 จุด และกำลังไล่ติดกล้องเข้าไปในกล่องเปล่า

           ต่อมาได้แถลงข่าววันเดียวกันว่า งบประมาณ กทม. ปี 2555 สำนักการจราจรและขนส่งกรุงเทพฯมีแผนติดตั้งกล้องรวมทั้งสิ้นเป็นวงเงินกว่า 998 ล้านบาท

           อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่ยังไม่ถูกเปิดเผยให้สาธารณชนได้รับรู้ก็คืองบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้างติดตั้งกล้อง CCTV และผ่านเอกชนรายใดบ้าง? 

สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบมาเสนอดังนี้ 

           นับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2553 เป็นต้นมาจนถึงเดือนกุมภาพันธ์2554 หน่วยงานของ กทม.จัดซื้อกล้อง CCTV จำนวน  35  ครั้ง ผ่านเอกชน 11 ราย  รวมวงเงิน 2,385,036,951 บาท (สองพันสามร้อยแปดสิบห้าล้านสามหมื่นหกพันเก้าร้อยห้าสิบเอ็ดบาท)

เอกชนที่ได้รับการว่าจ้างมากมากที่สุด  (ตามจำนวนครั้ง)

บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด    จำนวน 12 ครั้ง วงเงินรวม 372,604,996  บาท  

บริษัท โคนิค เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด  7  ครั้ง  วงเงินรวม 54,864,500 บาท 

บริษัท จีเนียส ทราฟฟิค ซีสเต็ม จำกัด  5 ครั้ง  วงเงินรวม 376,315,000   บาท 

หากคิดตามวงเงิน เอกชนที่ได้รับการว่าจ้างมากสุด 

กลุ่มกิจการค้าร่วมยูเทล ซีคอม วงเงิน 775,800,000   บาท 

 กิจการร่วมค้า จีเนียส   402,050,000   บาท 

บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด    372,604,996 บาท  (ดูตารางประกอบ) 

          จากการตรวจสอบพบว่า บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด  ซึ่งได้รับการว่าจ้างมากสุด จำนวน 12 ครั้งนั้นได้รับว่าจ้างครั้งแรกในรื้อย้ายและติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดพร้อมอุปกรณ์ บริเวณวงเวียนใหญ่เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2552  วงเงิน 1,195,000  บาท  

          จากนั้นได้รับว่าจ้างเรื่อยมา กระทั่งได้รับจ้างเหมาจัดหาพร้อมติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด(CCTV) บริเวณชุมชน ตลาด จุดเปลี่ยนถ่ายในการเดินทาง และจุดเสี่ยงภัยภายใน กทม. เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2554   วงเงิน 327,602,000  บาท 

           บริษัท จีเนียส ทราฟฟิค ซีสเต็ม จำกัด   ได้รับว่าจ้างในช่วงปีงบประมาณ 2553 ถึง 2554  ลอตใหญ่ได้แก่ จ้างเหมาติดตั้งระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV)เพื่อการตรวจสอบและสั่งการแก้ไขปัญหาการจราจร เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2553 วงเงิน 168,155,000 บาท  

          บริษัท โคนิค เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด  ได้รับว่าจ้างในช่วงปีงบประมาณ 2552 ถึง 2553   การว่าจ้าง 3 ครั้งหลัง ได้แก่ จ้างเหมาติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV)พร้อมอุปกรณ์ประกอบบริเวณอาคารจอดรถยนต์ลานคนเมือง และรอบศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร   วงเงิน  7,490,000  บาท 

          เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2553   ,จ้างเหมาติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV)พร้อมอุปกรณ์ภายในสวนหลวง ร.9 วงเงิน 9,800,000 บาท เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2553  และจ้างเหมาอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว(การปรับภูมิทัศน์เมืองบริเวณรอบอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสิน)กิจกรรมติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV)  วงเงิน 23,359,500  บาท เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2553

          กลุ่มกิจการค้าร่วมยูเทล ซีคอม ได้รับจ้างจัดหาพร้อมติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด(CCTV) บริเวณสถานศึกษาในพื้นที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2554  วงเงิน  775,800,000 บาท   

           กิจการร่วมค้า จีเนียส  ได้รับว่าจ้างเหมาเชื่อมโยงสัญญาณภาพจากกล้องโทรทัศน์วงจรปิด(CCTV)ไปที่สถานีตำรวจในพื้นที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2554 วงเงิน  402,050,000

            บริษัทไทยซีคอมพิทักษ์กิจ จำกัด ได้รับว่าจ้างเหมาจัดหาพร้อมติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) บริเวณโรงพยาบาลศูนย์บริการสาธารณสุขและสถานที่ราชการในพื้นที่กรุงเทพฯ วันที่  15 มี.ค. 2554

            กิจการค้าร่วม TNB  ได้รับว่าจ้างเหมาติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV)พร้อมอุปกรณ์การทำงานในพื้นที่กรุงเทพฯ676 กล้อง เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2552  วงเงิน 94,000,000 บาท

            น่าสังเกตว่าระหว่าง วันที่ 16 ก.พ. 2554  -15  มี.ค. 2554  กทม.ว่าจ้างเอกชนรายใหญ่ติดตั้งกล้อง 4 ราย

            บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด  วันที่ 16 ก.พ.2554     

            กลุ่มกิจการค้าร่วมยูเทล ซีคอม  วันที่ 22 ก.พ. 2554

            กิจการร่วมค้า จีเนียส  วันที่ 22 ก.พ. 2554

            บริษัทไทยซีคอมพิทักษ์กิจ จำกัด  วันที่ 15 มี.ค. 2554

            รวมวงเงินที่กทม.ทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างในช่วงนี้ 1,836,484,996 บาท

           ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าระบุว่า บริษัท ไทยซีคอมพิทักษ์กิจ จำกัด จดทะเบียนวันที่ 9 กันยายน 2530 ทุน  378.8 ล้านบาท  บริษัท ซีคอม จำกัด และ กลุ่มสหพัฒน์ถือหุ้นใหญ่  นายสุกษม ช่วงโชติ เป็นกรรมการ

            บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด จดทะเบียนวันที่  13 กันยายน 2542  ทุน 50 ล้านบาท ที่ตั้งเลขที่ 469 ซอยประวิทย์และเพื่อน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ  บริษัท เจแอนด์ แอสโซซิเอทส์ จำกัด ถือหุ้น(นายสุชาติ อารีกุล ถือหุ้นใหญ่)    

            บริษัท จีเนียส ทราฟฟิค ซีสเต็ม จำกัด  จดทะเบียนวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2545 ที่ตั้งเลขที่  77 หมู่ที่ 11 ถนนพุทธมณฑลสาย 5 ตำบลไร่ขิง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม  บมจ.ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น  ถือหุ้นใหญ่   น่าสนใจก็คือหากพลิกรายชื่อผู้บริจาคเงินพรรคประชาธิปัตย์ในช่วงที่ผ่านมา มีกลุ่มสหพัฒน์รวมอยู่ด้วย  

 

      การจัดซื้อกล้อง  CCTV ของกรุงเทพมหานคร ระหว่างปีงบฯ 2553-มี.ค.2554


 รวบรวมโดย สำนักข่าวอิศรา

http://www.isranews.org/