แหล่งข่าวในวงการโทรคมนาคมกล่าวว่า กรณีคณะกรรมการมาตรา 22 ตามพรบ.ร่วมทุนปี 2535 ชงเรื่องให้รมว.ไอซีทีเสนอครม.เพื่อฟ้องเรียกค่าเสียหาย จากเอไอเอส 7.5 หมื่นล้านบาท กรณีแก้ไขสัญญาระบบเติมเงิน (พรีเพด) 5.5 หมื่นล้านบาทและ การไม่นำส่งรายได้จากการใช้โครงข่ายร่วม (โรมมิ่ง) 2 หมื่นล้านบาท เป็นเรื่องที่ถูกจับตามองอย่างมากว่ารัฐจะดำเนินการกับปัญหานี้อย่างไร เพราะอาจทำให้เกิดผลกระทบกับความน่าเชื่อถืออย่างรุนแรง กระทบกับการลงทุนมหภาค ความน่าเชื่อถือในตลาดเงินและตลาดทุน เพราะเอไอเอสเป็นหุ้นบลูชิป ที่ได้รับรางวัลด้านบรรษัทภิบาล และเป็นหุ้นที่มีการลงทุนจากสถาบันจำนวนมาก รวมทั้งยังมีผู้ถือหุ้นรายย่อย หากรัฐตัดสินใจไม่ถูกที่ถูกเวลาและถูกเงื่อนไขแล้ว จะได้รับความเสียหายอย่างหนัก 'ตอนนี้ประเด็นสำคัญคือนักลงทุนมองว่า รัฐกำลังจัดการปัญหาอุตสาหกรรมโทรคมนาคมแบบ 2 มาตรฐาน ในขณะที่ไล่ล่าเอไอเอสอย่างหนัก แต่มีแนวโน้มว่าคณะกรรมการม.22 จะสรุปให้ดีแทคไม่ผิดหรือไม่ทำให้รัฐเสียหาย และคณะกรรมการม.13 ก็จะมีการสรุปที่เป็นคุณกับทรูมูฟ ทั้งๆที่ดีแทคและทรูมูฟมีการแก้ไขสัญญาในประเด็นสำคัญไม่ต่างจากเอไอเอส' นายธนา เธียรอัจฉริยะ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารดีแทคกล่าวว่าดีแทคไม่ค่อยหนักใจกับผลการพิจารณาของกรรมการม.22 เพราะการแก้ไขสัญญาดีแทคทำให้รัฐหรือกสทได้ประโยชน์ด้วยซ้ำ จากการเปิดให้มีผู้ให้บริการเพิ่มขึ้นอย่างทรูมูฟและดีพีซี รวมทั้งไม่สามารถชี้ชัดเป็นมูลค่าตัวเงินได้ว่าการแก้ไขสัญญาของดีแทค ทำให้กสทเสียประโยชน์หรือเสียหายมากน้อยแค่ไหน 'น่าหนักใจแทนเอไอเอส เพราะมีคำพิพากษาศาลฎีกาคดียึดทรัพย์เป็นแนวทางอยู่แล้ว ทำให้กรรมการม.22 ต้องยึดแนวทางพิจารณาตามนั้น' ในขณะที่นายอธึก อัศวานันท์ รองประธานกรรมการและหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกฎหมาย ทรูคอร์ปอเรชั่นกล่าวว่าทรูมูฟน่าจะได้รับผลกระทบน้อยที่สุด จากการพิจารณาของคณะกรรมการม.13 เพราะรัฐบาลจะมีแนวทางจัดการปัญหาของทรูมูฟได้ 2 วิธี คือ1.ให้ทำธุรกิจต่อไปได้ แต่มีการคุยรายละเอียดใหม่ร่วมกันทั้งสองฝ่าย และ2.ให้เลิกการดำเนินธุรกิจเลย ซึ่งหากเป็นวิธีนี้ จะมีผลกระทบตามมามากมายเพราะต้องถือว่าเหมือนสัญญาทรูมูฟไม่มีมาตั้งแต่ต้น รัฐก็ต้องส่งคืนทรัพย์สินต่างๆที่ทรูมูฟโอนไปให้กลับคืนมา รวมทั้งต้องส่งกลับรายได้ที่ทรูมูฟ แบ่งให้ตามสัญญาตั้งแต่ต้น 'ไม่ว่ารัฐจะตัดสินใจแนวทางไหน อาจต้องไปจบที่ศาล เพราะเอกชนต้องปกป้องสิทธิของตัวเองเต็มที่' แหล่งข่าวจากกรรมการม.22 ระบุว่าคณะกรรมการม.22 ที่ประกอบด้วยตัวแทนจากสำนักงานอัยการสูงสุด กระทรวงการคลัง กระทรวงไอซีที สภาพัฒน์ฯ กระทรวงกลาโหม กระทรวงคมนาคม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง และเอไอเอส ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเหตุผลคัดค้านของเอไอเอส ในประเด็นการแก้ไขสัญญาพรีเพดและการโรมมิ่งว่าไม่ได้ทำให้รัฐเสียประโยชน์ แต่ตรงกันข้าม รัฐและประชาชนผู้ใช้บริการกลับได้รับประโยชน์มหาศาลจากการแก้ไขสัญญาดังกล่าว เหมือนเป็นการพิจารณาแบบตั้งธงล่วงหน้า ทั้งๆที่แก้ไขสัญญา ปรับส่วนแบ่งรายได้พรีเพดให้เป็น 20% ระหว่างทีโอทีกับเอไอเอส เกิดขึ้นเพราะดีแทคขอลดค่าเชื่อมโครงข่าย (แอ็คเซ็สชาร์จหรือเอซี) จากเลขหมายละ 200 บาทต่อเดือนเป็น 18% ของราคาหน้าบัตร ซึ่งเมื่อทีโอทีอนุมัติแล้วทำให้ต้นทุนการให้บริการดีแทคได้เปรียบเอไอเอส ดังนั้นบอร์ดทีโอทีจึงแก้ไขส่วนแบ่งรายได้พรีเพดของเอไอเอส เพื่อสร้างความเป็นธรรมในการแข่งขันและกระตุ้นตลาดให้เติบโตมากขึ้น ซึ่งเมื่อฐานตลาดใหญ่ขึ้น ส่วนแบ่งรายได้ก็มากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งหากไม่เกิดการอนุมัติครั้งนั้น ตลาดพรีเพดก็จะไม่มีโอกาสเติบโตได้เท่าทุกวันนี้ นอกจากนี้เหตุผลที่รัฐไม่รับฟังเอไอเอสเลย คือ 1.ประโยชน์ที่เกิดจากประชาชนเมื่อเอไอเอสได้รับการปรับลดส่วนแบ่งรายได้คือ 1.ค่าบริการถูกลงในปี 2544 ค่าบริการเฉลี่ยนาทีละ 5.44 บาท ลดลงเหลือไม่ถึงนาทีละ 1 บาทในปัจจุบัน ซึ่งคิดเป็นจำนวนเงินที่เอไอเอสลดให้ลูกค้ากว่า 7.66 แสนล้านบาท 2.ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนลดลงจากเดิมในปี 2544 อยู่ที่ 431 บาท ก็ลดเหลือเดือนละ 206 บาทในปี 2551 และ 3.ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการโทรศัพท์มือถือได้สะดวก จากเดิมในปี 2544 มีสัดส่วนผู้ใช้บริการประมาณ 5.08% ของประชากร ก็เพิ่มขึ้นเป็น 86.29% ของประชากร ซึ่งผู้ให้บริการต้องลงทุนสร้างสถานีเครือข่ายรองรับการให้บริการจำนวนมากมายมหาศาล และเครือข่ายเหล่านั้นก็ถูกโอนเป็นสมบัติของรัฐ ในส่วนของผลประโยชน์ที่ทีโอทีได้รับคือ 1.ส่วนแบ่งรายได้ที่มากขึ้น จากการที่เอไอเอสสามารถแข่งขันในตลาดได้ ทำให้รักษาการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยก่อนหน้านี้ทีโอทีได้รับส่วนแบ่งรายได้จากพรีเพดเพียง 451 ล้านบาท แต่ในปีถัดมาทีโอทีได้รับถึง 3,419 ล้านบาท และจนสิ้นปีดำเนินการที่ 19 ทีโอทีได้รับส่วนแบ่งเป็นเงินกว่า 8.1 หมื่นล้านบาท 2.ทีโอทีได้รับประโยชน์จากเงินส่วนแบ่งรายได้ที่ได้รับชำระเร็วขึ้นเป็นรายเดือนโดยคิดตามอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารเป็นเงินประมาณ 676 ล้านบาท และ3.ทีโอทีได้รับมอบทรัพย์สินในมูลค่าที่สูงขึ้นจากการขยายตัวของโครงข่ายที่เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการใช้งานของประชาชน มากกว่า 1.54 แสนล้านบาท ในขณะที่ประโยชน์สาธารณะโดยรวมที่รัฐได้รับคือการขยายตัวของโทรศัพท์มือถือระบบพรีเพด ที่สามารถเข้าถึงประชาชนได้ทุกภาคส่วน ทำให้เกิดความสะดวกในการติดต่อสื่อสาร มีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เกิดการสร้างงาน ลดต้นทุนการประกอบธุรกิจ สร้างรายได้ในรูปภาษีอากรให้รัฐ นายสมประสงค์ บุญยะชัย ประธานกรรมการบริหาร ชินคอร์ป เคยกล่าวก่อนหน้านี้ว่าภาครัฐควรมองความจริงรอบด้านและในทุกมิติ โดยเฉพาะกรณีแก้สัญญาเรื่องส่วนแบ่งรายได้ระบบพรีเพดของเอไอเอสจากอัตราก้าวหน้า 25-30% เป็น 20% รัฐไม่ควรมองแค่ส่วนแบ่งลดลงไปเท่าไหร่ และคำนวณย้อนเวลากลับไปคูณกับฐานลูกค้า เพราะจะทำให้ได้ตัวเลขที่ไม่ได้ยืนบนความจริงเนื่องจากเป็นตัวเลขที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริง การแก้สัญญาดังกล่าวภาครัฐควรมองว่าจำนวนลูกค้าที่เพิ่มมากขึ้นหมายถึงทีโอที ก็ได้ส่วนแบ่งรายได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งฐานลูกค้าที่เพิ่มขึ้น 17 ล้านรายหมายถึงเอไอเอสต้องลงทุนขยายเครือข่ายหลายหมื่นล้านบาท ซึ่งต้องถูกโอนเป็นทรัพย์สินของรัฐหรือของทีโอทีตามสัญญา BTO นอกจากนี้เอไอเอสก็ปฏิบัติตามเงื่อนไขคือการลดค่าบริการให้ประชาชนซึ่งมากกว่าที่กำหนดไว้ในเงื่อนไข 'เราปฏิบัติตามสัญญา ซึ่งเราไม่ได้บังคับใคร เพื่อให้เราได้ทำแบบนั้นหรือแบบนี้ผมเห็นว่าทีโอทีก็ได้รับประโยชน์จำนวนมาก และทีโอทีก็เป็นองค์กรธุรกิจที่ต้องมองโอกาสและผลประโยชน์ที่จะเข้ามาในอนาคต' |
http://www.manager.co.th/Cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9530000183342
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น