| นางอองซาน ซูจี ปัจจุบันอายุ 65 ปี เป็นบุตรสาวของนายพลอองซาน ผู้บัญชาการกองทัพอิสรภาพแห่งพม่า ผู้มีบทบาทสำคัญในการทำให้พม่าได้รับเอกราชคืนจากอังกฤษ แต่ถูกลอบสังหารขณะที่อองซาน ซูจี อายุ 2 ขวบ อองซาน ซูจี จบการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาปรัชญา เศรษฐศาสตร์และการเมืองจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ โดยอองซาน ซูจี แต่งงาน กับ "ไมเคิล อริส" เพื่อนนักศึกษาสาขาอารยธรรมธิเบต ในปี พ.ศ.2515 มีบุตรชาย 2 คน เส้นทางชีวิตของอองซาน ซูจี เข้าสู่เส้นทางการเมืองในปี พ.ศ.2531 เมื่อกลับกรุงย่างกุ้ง ประเทศพม่า เพื่อดูแลแม่ซึ่งกำลังป่วยหนัก และขณะนั้นกำลังเกิดความวุ่นวายในประเทศพม่า ทั้งปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ และปัญหาการเมือง ประชาชนเรียกร้องให้นายพลเนวิน ซึ่งปกครองพม่ามานาน 26 ปีในขณะนั้นลาออก มีการประท้วงเกิดขึ้นหลายแห่งทำให้นายพลเนวินต้องประกาศลาออกในเดือนกรกฎาคม ปีเดียวกัน ตามมาด้วยเหตุการณ์ที่นักศึกษาและประชาชนหลายแสนคนเรียกร้องประชาธิปไตยใน กรุงย่างกุ้ง และแผ่ขยายไปทั่วไปประเทศ จนกระทั่งเกิดการนองเลือดในวันที่ 8 เดือนสิงหาคม พ.ศ.2531 หรือที่รู้จักกันในชื่อเหตุการณ์ 8888 ซึ่งประชาชนนับล้านรวมตัวกันในกรุงย่างกุ้ง เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย จนทำให้ผู้นำทหารสั่งปราบปรามประชาชน ส่งผลให้มีผู้ประท้วงเสียชีวิต ประมาณ 3,000 คน หลังเกิดเหตุปราบปรามประชาชน ในวันที่ 15 สิงหาคม "อองซาน ซูจี" ได้ยื่นหนังสือเปิดผนึกถึงรัฐบาลเรียกร้องให้จัดการเลือกตั้ง และเริ่มทำกิจกรรมทางการเมืองนับตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมา โดยในเดือนกันยายน ได้ร่วมจัดตั้งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ เอ็นแอลดี ซึ่ง "อองซาน ซูจี" ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรค ในสิ้นปี พ.ศ.2531 มารดาของ "อองซาน ซูจี" ได้เสียชีวิต ต่อจากนั้น "อองซาน ซูจี" ได้เดินหน้าปราศัยทางการเมือง และเมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ.2532 เกิดเหตุการณ์ที่ดินดอนสามเหลี่ยมอิรวดี "อองซาน ซูจี" เดินเข้าหาเหล่าทหารที่ถือปืนไรเฟิลเล็งเข้าหาตนเอง ก่อนที่เธอจะถูกทหารพม่ากักบริเวณไว้ในบ้านพักโดยปราศจากข้อกล่าวหาในวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ.2532 แม้ "อองซาน ซูจี" จะถูกกักบริเวณ แต่พรรคเอ็นแอลดี ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายในปี พ.ศ.2533 โดนได้ที่นั่งในสภาร้อยละ 82 แต่รัฐบาลทหารพม่าไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง ซึ่งในช่วง 21 ปีที่ผ่านมา "อองซาน ซูจี" ถูกกักบริเวณในบ้านพักรวม 15 ปี โดยได้รับการปล่อยตัว แต่ถูกจับกุมอีก และได้รับการเชิดชูเกียรติจากหลายสถาบัน รวมทั้งได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 2534 ทั้งนี้ "อองซาน ซูจี" ควรได้รับการปล่อยตัวตั้งแต่ปี พ.ศ.2552 แต่รัฐบาลทหารพม่าขยายเวลาการกักบริเวณอีก 18 เดือน เนื่องจากเกิดเหตุการณ์ชายชาวอเมริกันว่ายน้ำข้ามทะเลสาปเข้าไปยังบ้านพัก ของ "อองซาน ซูจี" ซึ่งโทษการกักบริเวณจะครบกำหนดในวันพรุ่งนี้ (13 พ.ย.) |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น